วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

๘๔ ปีสตรีแกร่ง (บทความไว้อาลัยคุณแม่เจริญ วิรุฬห์รักษ์)

       ลูกขอเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต และจิตวิญญาณของแม่เท่าที่แม่เคยเล่าให้ลูกฟัง และที่ลูกได้พบได้เห็น เมื่อแม่ยังอยู่ลูกคิดจะบันทึก แต่ก็สองจิตสองใจว่าจะกลายเป็นการเตรียมหนังสืองานศพของแม่ แต่เมื่อแม่จากไปแล้ว แม้ลูกจะโศกเศร้าเพียงใด ก็ต้องทำใจรับสภาพ และบันทึกจากความทรงจำ เพื่อให้เป็นความรำลึกรัก ถึงแม่ของลูกตลอดไป และใครที่ได้อ่านบันทึกนี้จะได้รับรู้ถึงความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตของแม่ไว้เป็นบทเรียน

คุณตาของแม่เป็นชาวนาสายตระกูล รัตนนาคินทร์ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่มามีหนุ่มจีน ชื่อกิมฮง แซ่จิว มารับจ้างทำนา ส่วนน้องชายไปรับจ้างร้านทอง กิมฮงขยันขันแข็ง คุณตาของแม่จึงยกลูกสาวชื่อเปลื้องให้ตบแต่งกัน และมีลูกสาวหนึ่งคนชื่อเจริญคือแม่ แม่เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ พอแม่โตพอจำความได้ แม่เปลื้องก็แยกทางกับพ่อกิมฮงมา อยู่ที่วังหม่อมเจ้ารัชนีแจ่มจรัส  ที่ซอยประมวญ ถนนสีลม กรุงเทพ ส่วนพ่อกิมฮงก็หายสาบสูญไป ป้ารอดพี่สาวแม่เปลื้องกับลุงหนุน วรรณโสภณก็รับเลี้ยงดูแม่ต่อมา แม่จึงรักใคร่นับถือญาติวรรณโสภณนี้มาก แม่เติบโตมากับท้องนา เล่นซนเหมือนเด็กผู้ชาย เป็นลูกกำพร้าที่ต้องช่วยตัวเองมาตลอด และก็ได้เรียนหนังสือตามอัตภาพ

       เมื่อแม่เปลื้องมาทำงานที่วังซอยประมวญก็ได้พบกับพ่อแจ่ม จุรณะโกเศศ คนขับรถของวัง แม่ซึ่งอายุได้ ๑๓ ปี ก็เดินทางมากับคนที่รู้จักกันโดยรถไฟมาส่งแม่ที่กรุงเทพ ก่อนรถไฟออกลุงหนุนควักเงินให้แม่หนึ่งบาทเป็นเงินติดตัว เด็กผู้หญิงบ้านนอกอายุ ๑๓ ปี กับห่อผ้าและชะลอมของกินของฝาก เดินทางมาถึงกรุงเทพ และถูกปล่อยให้นั่งรอน้าพิศ (ประพิศ รัตนนาคินทร์) น้องชายคนเล็กของแม่เปลื้องจนค่ำจึงได้มารับไปอยู่กับแม่เปลื้องที่เช่าบ้านอยู่กับพ่อแจ่มแถวถนนสีลม แม่ได้เรียนหนังสือต่อ แต่งานหลักคือเลี้ยงน้องๆ ที่เกิดเรียงกันมาคือ ปิ่น เปี๊ยก อ๊อด อู๊ด แป๊ด และแดง ผู้ซึ่งเกิดก่อนลูกแก่ของแม่ ๙ เดือน แม่เล่าว่างานเลี้ยงน้องๆ หนักมาก ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (๒๔๘๔-๒๔๘๗)

       พ่อแจ่มซึ่งมีความรู้เรื่องรถยนต์ จึงเปิดอู่ซ่อมรถยนต์มีชื่อว่า ช่างกลสีลม เป็นห้องแถวสองคูหาสองชั้นบนถนนสีลมใกล้สี่แยกมเหสักข์ ทำให้มีฐานะดีขึ้นมาก และต่อมาจึงมีบ้านใหญ่สองชั้นอยู่ริมคลองสีลม ตรงบริเวณโรมแรมนารายณ์ในปัจจุบัน แม่เรียนหนังสือถึง ม.๓ แม่เปลื้องก็ให้ออกมาเลี้ยงน้องๆ แม่เสียใจมาก แต่ก็หาทางออกให้ตัวเองโดยขวนขวายไปเรียนตัดเสื้อที่ร้านตัดเสื้อสตรีถนนเจริญกรุงตรงข้ามไปรษณีย์กลาง แม่เริ่มต้นตั้งแต่รับจ้างเป็นช่างสอยเสื้อ ที่นี่แม่ได้พบกับคุณยอม ซึ่งได้เป็นเพื่อนที่สนิมสนม และเอื้อเฟื้อกันมาตลอดชีวิต ตรงนี้แม่เล่าเกล็ดชีวิตให้ฟังว่าเมื่อเริ่มเป็นสาวมีสิวมาก แม่จึงเอามีดโกนมากันหน้าให้เกลี้ยง ใบหน้ากลับอักเสบ และมีสิวเห่อขึ้นเต็มหน้า แม่จึงร้องไห้ ทั้งเรื่องเลี้ยงน้องๆ เรื่องไม่ได้เรียนหนังสือ และเรื่องเป็นสิวทุกวัน

       แต่มีเสียงล้อเลียนที่ทำให้แม่ร้องไห้มากขึ้น เจ้าของเสียงเป็นชายหนุ่มลูกครึ่งมีพ่อเป็นเยอรมันไทย  แม่เป็นสก๊อตมอญ รูปร่างสูงโปร่ง ผิวดำแดง ผมหยักศก ทำงานเป็นพนักงานรถไฟ อาศัยอยู่ที่เรือนปั้นหยาสองชั้นริมคลองสีลม ตรงข้ามอู่ช่างกลสีลมนั่นเอง เขาชื่อรอย ฮิ้นช์ หรือสุวัชร์ วิรุลรักส์ (สะกดสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) และกลายมาเป็นวิรุฬห์รักษ์ โดยเจ้าหน้าที่อำเภอหลายอำเภอ รอยชอบเครื่องยนต์จึงมาขลุกอยู่ที่อู่เสมอ และแล้วการล้อเลียนกลายเป็นความเห็นใจ และมักแอบไปพบกันที่เขาดิน จนแม่เปลื้องรู้เข้าจึงพาแม่ไปอยู่กับน้องสาวของพ่อแจ่มคืออาหลุยที่ในวังหลวง รอยก็แอบมาพบแม่ที่ประตูวังด้านแม่น้ำเจ้าพระยาคือประตู อนงค์ลีลา เวลาแม่ดูละครเรื่องสี่แผ่นดินทีไร แม่ก็จะซึ้งใจกับภาพแม่พลอยออกมาพบกับคุณเปรมทุกครั้ง แต่ผลที่ตามมาก็คือ แม่เปลื้องทราบเรื่องเข้า จึงตามมาต่อว่าอาหลุยอย่างสาหัสสากรรจ์ แล้วเอาตัวแม่กลับไปบ้านตามเดิม แม้ว่าแม่จะมีชีวิตอยู่ในวังเพียงระยะสั้นๆ แต่ก็ประทับใจกับอาหลุย และผู้คนในวัง  อีกทั้งความมีอิสรเสรีที่ได้รับ ความประทับใจนี้ไม่เคยเสื่อมคลาย

       ความประทับใจในชีวิตของแม่ช่วงสงครามเรื่องหนึ่ง เมื่อแม่ดูละครโทรทัศน์เรื่อง โกโบริ ซึ่งนำแสดงโดย เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย แม่รู้จักตัวละครแทบจะทุกตัวในเรื่องนั้น เช่น หมอโยชิ ซึ่งเป็นหมอญี่ปุ่นที่ช่วยเข้าเฝือกขาให้เปี๊ยกที่ถูกรถทหารญี่ปุ่นชนจนกระดูกออกนอกเนื้อ ตอนอวสานของละคร แม่เรียกน้าๆ มานั่งดู และวิพากษ์วิจารณ์กันตามประสาคนที่เกิดทันเหตุการณ์ เป็นการฟื้นความจำที่มีคุณค่ายิ่งของแม่

       ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนของน้าพิศ และอีกหลายคน ทำให้แม่กลายเป็น แม่ฮิ้นช์ คือเรียกแบบฝรั่งว่า มิสสิส ฮิ้นช์ Mrs. Hinch ตามนามสกุลของรอยนั่นเอง แม่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของพวกลูกครึ่งสีลม ซึ่งมีวัฒนธรรมต่างไปจากไทยปักษ์ใต้ของแม่เปลื้องอย่างสิ้นเชิง รอยมีพี่สาวคือ ควีนนี่ แต่งงานกับ ยอดรัก กรรณสูต มีลูก ๒ คนคือ ยุพลักษณ์ (พี่สาว) และยอดลักษณ์ (น้องชาย) และรอยมีน้องชายคนหนึ่งชื่อ คล๊อด ซี่งต่อมาแต่งงานแต่ไม่มีลูก

       พ่อเฮนรี่กับแม่ลูซี่รักและเอ็นดูแม่มาก แม่เล่าว่าที่บ้านนี้มีระเบียบมากในการรับประทานอาหารเช้า เย็น และเวลาน้ำชา 4 โมงเย็น การแต่งกาย กิริยา มารยาทต่างๆ เคร่งครัด การกินการอยู่ค่อนข้างประหยัด เป็นครอบครัวผู้ดีตกยาก เพราะแม่ลูซี่เคยป่วยเป็นวรรณโรคต้องไปรักษาถึงปีนัง ทำให้หมดเงินไปเป็นอันมาก ส่วนพ่อเฮนรี่ก็ป่วยเป็นอัมพฤต เดินไม่ได้อยู่นาน เพิ่งมาหายตอนลูกแก่พอจำความได้ ส่วนทางบ้านแม่เปลื้องนั้นเปรียบเสมือนเศรษฐีสงคราม เปิดบ้านเป็นบ่อนไพ่ตอง หุงข้าวหุงแกงเป็นหม้อๆ เลี้ยงกันไม่อั้น แม่ได้เรียนรู้การวางตัว กิริยา มารยาท วัฒนธรรมฝรั่งจากแม่ลูซี่  แม่เล่าให้ลูกฟังอย่างเคารพรักอยู่เนืองๆ

       แต่แล้วสถานการณ์ในกรุงเทพก็เริ่มคับขันด้วยการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตร แม่อุ้มท้องขนาดใหญ่วิ่งลงหลุมหลบภัยใกล้ป่าช้าฝรั่งสีลมบ่อยๆ  ส่วนพ่อถูกจับในข้อหามีของขโมยจากญี่ปุ่นโดยที่พ่อไม่รู้เรื่องเลย พ่อถูกจับไปขังที่กรมตำรวจ ในระหว่างนั้นแม่อพยพหนีระเบิดไปอยู่กับแม่เปลื้องที่สุดซอยทองหล่อหรือสุขุมวิท ๕๕ ซึ่งสมัยนั้นเป็นเพียงท้องนา แม่ลุกขึ้นมาทำส้วมหลุมให้ที่นั่งถ่ายมีรางสังกะสีต่อออกไปให้หลุมอุจจาระห่างออกไปเสีย จะได้ไม่เหม็น และไม่อุจาด แม่เป็นคนคิดเรื่องนี้เก่งเสมอ แต่แม่โชคร้ายในขณะทำคลอดด้วยหมอตำแยนั้นลูกตัวโตมากต้องข่มเชิงกรานอย่างแรงทำให้เส้นประสาทอักเสบ ใครแตะตัวไม่ได้ พลิกตัวไม่ได้ ให้ลูกกินนมไม่ได้ เจ็บปวดแสนสาหัส ผมเผ้าร่วงผ่ายผอม แม่เจ็บปวดเรื้อรังอยู่นาน โดยที่พ่อรอยไม่ได้รับทราบเรื่องแม้แต่น้อย   เมื่อลูกออกมาลืมตาดูโลกแล้ว การเล่าเรื่องต่อจากนี้ไป จะใช้สรรพนาม และการลำดับญาติโดยลูกแทนแม่

คืนวันหนึ่งคุณยายเปลื้องฝันเห็นแม่หมอมลายู รุ่งเช้าก็มีแม่หมอคนในฝันเดินผ่านมา คุณยายจึงเรียกให้มาช่วยรักษาแม่ แม่หมอเล่าว่าเมื่อคืนก่อนมีกระแสจิตให้เดินทางมาทางนี้เพราะมีคนรอความช่วยเหลือ แม่หมอใช้น้ำมันนวด ตอนแรกแม่ร้องโอดโอย แต่ความเจ็บปวดก็ค่อยๆ คลายลง หลายวันต่อมาก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อพ่อถูกปล่อยตัวกลับมาเห็นแม่ในสภาพซูบซีดเช่นนั้นก็ถึงกับปล่อยโฮ ครั้นปลายสงคราม ครอบครัวคุณยายย้ายกลับมาอยู่อู่สีสม ผมมีอายุได้ขวบกับหนึ่งเดือน พ่อก็ลื่นหกล้มที่หลังอู่ ขาถูกกระเบื้องบาดเป็นแผลลึก หยูกยาหายากมาก การรักษาก็ได้แค่เย็บแผล ในที่สุดแผลก็ต้องติดเชื้อบาดทะยัก มีอาการชักกระตุก ร้อนสลับหนาวอยู่เพียงสองอาทิตย์พ่อก็สิ้นใจที่โรงพยาบาลกลาง โดยมีลูกชายตัวน้อยเพิ่งหัดพูด นั่งอยู่บนอกพ่อ พร่ำร้องว่า พ่อตื่นๆ เมื่อลูกเห็นแม่สิ้นใจไปต่อหน้าต่อตา มันเจ็บปวดทรมานจิตใจสาหัสเพียงใด แม่ก็คงจะโศกเศร้าเสียใจยิ่งกว่าลูกร้อยเท่าพันทวี ไหนจะเป็นหม้ายตั้งแต่วัยเพียง ๒๑ ปี ไหนจะมีลูกอ่อนเพียงขวบเศษ ไม่มีเงินติดตัวแม้บาทเดียว แต่แม่ก็สัญญากับพ่อว่าจะเลี้ยงดูลูกคนนี้ ให้ดีที่สุด และแม่ก็ทำได้จริงๆ

       ชีวิตแม่หลังพ่อตายก็กลับเข้าสู่สภาพเดิม แม่ต้องย้ายจากบ้านคุณย่ามาอยู่บ้านคุณยาย ดูแลน้องๆ บ้าน และลูก แม่รับจ้างเย็บผ้าหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ลูกนอนกอดแม่ และเห็นแม่แอบร้องไห้แทบทุกคืน แม่มีจักรเย็บผ้าหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือหากินชิ้นเดียวของแม่ แม่เย็บผ้าไปแล้วเลี้ยงลูกไป โดยผูกขาลูกไว้กับจักร และของเล่นของลูกคือเศษผ้าใต้จักรนั่นเอง แม่เป็นหม้ายสาวสวย แม้จะมีลูกติด แต่ก็มีผู้ชายมาชอบหลายคน แต่คุณยายยังคอยกีดกันแม่เหมือนเมื่อแม่ยังเป็นสาว ในที่สุดแม่ก็ตัดสินใจแต่งงานใหม่เพื่อออกไปจากสภาพที่เป็นอยู่ แม่ตัดสินใจเลือกคุณสงค์ หรือประสงค์ ทองสีไพล คุณครูโรงเรียนสหคุณวิทยา ที่อยู่ห่างบ้านคุณยายไปเพียง 100 เมตร แม่แอบพาลูกไปทำความคุ้นเคยกับคุณสงค์ และในที่สุดก็ตัดสินใจออกจากบ้านคุณยายไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยวัฒนวงศ์ ถนนราชปรารภ ใกล้ๆ ตลาดเฉลิมโลกประตูน้ำ ตอนนั้นลูกอายุได้ ๗-๘ ขวบ ดูแลตัวเองได้บ้าง แม่จึงพาไปอยู่ด้วย    แม่และคุณสงค์ช่วยกันทำงานครองคู่กันด้วยความยากลำบาก แต่ก็หาโอกาสไปหาความสุขกันเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนชักชวน เพราะแม่รักสวยรักงาม รักระเบียบ และรักความรื่นรมย์ ซึ่งลูกรับมาทั้งหมด แม่พาคุณสงค์กับลูกไปกินอาหารฝรั่งที่ทำด้วยกุ๊กจีนบ่อยๆ ร้านที่แม่ชอบมากคือพงหลี ซึ่งเป็นเพิงโล่งๆ ปลูกอยู่ริมคลองใกล้สี่แยกราชประสงค์ตรงเซ็นทรัลเวิลด์ปัจจุบัน เมนูเด็ดของร้านนี้คือสลัดเนื้อสันที่แม่ชอบมาก

       จากนั้นดวงชะตาของแม่ก็พัดพาแม่ไปสู่เพชรบุรี อันเป็นบ้านเกิดของคุณสงค์ การที่คุณสงค์ลูกชายคนสุดท้องของคุณย่าสืบพาเมียแม่หม้ายลูกติดไปเปิดตัวที่เมืองเพชร เมื่อราวพ.ศ.๒๔๙๕ นั้น ย่อมเป็น ทอล์กออฟเดอะเทาวน์ แถมแม่อายุมากกว่าคุณสงค์สองปี แม้ว่าเมืองเพชรจะได้ชื่อว่าเมืองขนมหวาน แต่แม่ก็ได้สัมผัสกับรสขมและชาเย็นอยู่นานหลายปี ระหว่างนี้ลูกเชื่อว่าแม่ต้องทำใจให้กล้าหาญในหลายๆ ด้าน ไหนจะเข้าไปอยู่ในสังคมเมืองเพชรที่ต้องปรับตัวให้เขายอมรับ ไหนจะต้องฝากลูกไว้กับคุณย่าที่กรุงเทพฯ ลูกรู้ว่าแม่ต้องว้าเหว่เหมือนลูก แม่บอกลาลูก ให้ลูกเป็นคนดี ให้เรียนหนังสือให้เก่ง แม่พาลูกไปหาหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ หลวงพ่อเป่ากระหม่อม และลงอักขระด้วยเทียนกลางศีรษะ แล้วสั่งแม่ว่าอย่าให้ใครตีหัวลูก ลูกจะมีสมองดี แล้วแม่ก็จากไปด้วยเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชิ้น เดือนหนึ่งแม่ก็ขึ้นกรุงเทพฯ มาเยี่ยม พาลูกไปกิน ไปดูหนังครั้งหนึ่ง ซึ่งแม่ไม่เคยละเว้น พอปิดเรียนช่วงฤดูร้อน แม่ก็รับลูกไปอยู่ด้วยกันที่เมืองเพชร ที่นั่นคุณสงค์เป็นลูกจ้างซ่อมวิทยุให้กับหลานเขยชื่อคุณสว่าง ซึ่งเปิดร้านขาย-ซ่อมวิทยุสองคูหาสองชั้นอย่างกลางเมืองใกล้โรงหนังชื่อร้านพรวิษณุ แม่อาศัยข้างบนเปิดร้านรับจ้างเย็บเสื้อ ส่วนลูกยังเล็กเกินไปที่จะช่วยทำอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว อีกทั้งไม่ค่อยสนิทสนมกับคุณสงค์ จึงออกไปเล่นกับเด็กๆ ข้างบ้าน ไปเที่ยวดูวัดวาอาราม ดูละครชาตรี ดูลิเก เล่นน้ำในแม่น้ำเพชร ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกรัก และเรียนวิชาศิลปะในกาลต่อมา

       แม่เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย และมีนิสัยชอบจัดการ แม่เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคุณสงค์ เคยจัดทัวร์สระบุรีบ้าง บางแสนบ้าง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะขี้เกรงใจคน ซึ่งแม่เป็นอย่างนี้มาตลอด งานใหญ่ ๆ ที่แม่ทำให้ลูกเห็นคือการจัดงานหน้าเขา หรืองานสงกรานต์หน้าเขาวังเพชรบุรี พร้อมด้วยการส่งชุดเข้าประกวดแฟชั่น ซึ่งมีน้าแป๊ดเดินชุดว่ายน้ำ เป็นที่ฮือฮา ถ้าเรียกสมัยนี้  แม่คือออแกนไนเซอร์  นั่นเอง

       ชีวิตแม่ที่เมืองเพชรเป็นปึกแผ่นขึ้นเป็นลำดับ การช่วยรักษาพยาบาลคุณย่าสืบที่ป่วยหนักด้วยโรคลมป่วง ขับถ่ายอุจจาระมิได้จนหายเป็นปกติ ทำให้คุณย่าสืบหันมาเอ็นดูแม่ เมื่อคุณสว่างเซ้งร้านวิทยุไป ทำให้ต้องหาร้านทำธุรกิจด้วยตัวเอง ก็ได้เงินจากคุณย่าสืบมาสนับสนุนให้เปิดร้านพรวิษณุขึ้นมาใหม่ใกล้ร้านเดิม แต่เป็นคูหาเดียว ที่ร้านนี้นอกจากขาย-ซ่อมวิทยุแล้วก็รับอัดแบตเตอรี่ 3 ล้อ ข้างหลังทำเป็นร้านทำผม ข้างบนทำเป็นร้านตัดเสื้อ งานพิเศษที่ได้เป็นกอบเป็นกำน่าจะเป็นการให้เช่าเครื่องปั่นไฟในงานวัดช่วงหน้าแล้ง แต่ไม่ค่อยได้ทำกำไรนัก ส่วนร้านเสื้อและผมของแม่ได้ผลมาก เวลาลูกกลับไปอยู่กับแม่ตอนปิดเทอมในช่วงอายุ ๑๔-๑๕ ปีนั้น ไม่ค่อยได้สนใจการช่างหรือละครชาตรีและการเที่ยวเล่นดังแต่ก่อน  กลับสนใจการว่ายน้ำในแม่น้ำเพชรทั้งวันจนตัวดำเป็นเหนี่ยง  แม่ก็มีวิธีให้ลูกมาช่วยงานผมซึ่งจริงๆ เป็นการช่วยเล่นๆ   แต่กลับได้ความรู้มาไม่น้อย

แม่เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่ก้าวหน้า   ขณะนั้นหม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย  ทรงเปิดโรงเรียนสอนตัดเสื้อ เดซีเร่ ที่ห้าแยกพลับพลาชัย  แม่ได้ข่าวก็รวบรวมเงินทองมาสมัครเรียนโดยอาศัยค้างแรมที่บ้านคุณยอมตรงสะพานเหลือง  บทเรียนค่อนข้างยากเพราะเป็นระบบฝรั่งเศส วัดเป็นมิลลิเมตรและการแยกแพทเทิ่นละเอียดมาก  แม่ปวดหัวกลับมาทุกวัน  แต่ในที่สุดแม่ก็เรียนจบและได้เป็นครูของโรงเรียน  ช่วยสอนพวกนักเรียนรุ่นต่อมาให้ตัดเย็บ เพราะแม่ชำนาญการตัดเย็บมานาน  ช่วงนี้ลูกไปมาระหว่างบ้านคุณย่าและบ้านคุณยอม  เลิกเรียนก็ไปทำการบ้านที่เดซีเร่  พอทำการบ้านเสร็จก็ช่วยพวกลูกศิษย์แม่ลอกตำรา  เพราะยังไม่มีเครื่องซีร็อกส์ในสมัยนั้น  ลูกช่วยวัดตัว  ช่วยจับจีบ  จิปาถะ  ลูกเลยได้วิชาออกแบบเย็บระดับงูๆปลาๆ มาโดยปริยาย  ตั้งแต่นั้นมา แม่ก็ออกแบบตัดเย็บให้ลูกค้าของตัวเองมากขึ้น  คนรู้จักชื่อเสียงมากขึ้น มีลูกค้าทั้งที่เมืองเพชรและที่กรุงเทพฯ 

โอกาสในอาชีพเสื้อสตรีที่กรุงเทพฯ ทำให้แม่ตัดสินใจกลับเข้ามาปักหลักในกรุงเทพฯ  โดยเช่าห้องแถวสองชั้นที่ซอยพุทธโอสถ  ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง  เปิดเป็นร้านและโรงเรียน  ส่วนลูกก็ได้มาอยู่กับแม่อีกครั้ง แม่ต้องแยกร่างเป็นสองภาค  วันจันทร์ถึงวันศุกร์อยู่กรุงเทพฯ  วันเสาร์อาทิตย์อยู่เมืองเพชร แม้ว่าแม่จะมีรายได้ขึ้นมาบ้าง แต่รายจ่ายก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว  สมัยนั้นน้ำประปาในกรุงเทพฯขาดแคลนอย่างหนัก  เพราะมีคนอพยพเข้ามาอยู่มากมายด้วยผลของสงครามเวียดนาม  แม่และลูกน้องต้องลุกขึ้นตีสองรองน้ำจากท่อที่ทอดอยู่กับพื้นให้มันไหลลงจานแล้วเทใส่กระป๋องลงใส่ตุ่มอีกทอดหนึ่งทุกวัน

ความลำบากของแม่ทำให้ลูกตั้งใจเรียนอย่างมาก ลูกตัดสินใจเข้าเรียนเตรียมทหารเพราะชอบเครื่องแบบและเข้าใจว่าไม่ต้องเสียค่าเรียน ก็จัดการด้วยตัวเองไปเรียนพิเศษจนสอบติดและรอสัมภาษณ์ แม่รู้เข้าก็ลูกเอาตัวกลับไปเพชรบุรีด้วยเหตุผลว่านามสกุลไม่ใหญ๋จบไปก็ไม่รุ่ง ลูกกลับมาเรียนนใจเข้าเรียนเตรียมทหารเพราะจนจบระดับเตรียมอุดมศึกษาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย  ก็มาถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในเวลานั้นลูกไม่ได้คิดอะไรเป็นเลย  นอกจากเดินตามน้าหนิท (สนิท รัตนนาคินทร์) กับน้าอู๊ด (มานิตย์ จุรณะโกเศศ) ที่จบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาฯไปได้ไม่นาน จึงคิดแค่จะสมัครเรียนวิศวะ  ปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการสอบรวมทั่วประเทศและให้เลือกได้๖ อันดับ ลูกเลือกวิศวะเป็นอันดับหนึ่ง  และเลือกอื่นๆ เปรอะไปหมดเพราะไม่มีใครแนะนำ แต่เว้นอันดับ ๒ ไว้ ซึ่งในเวลาที่เขียนก็จำเหตุผลไม่ได้  จำได้แต่ว่าแม่เป็นคนบอกให้ลูกเลือกสถาปัตย์  ลูกถามว่ามันคืออะไร  แม่ก็บอกว่า เรียนเกี่ยวกับออกแบบบ้าน  สามีน้าช้อยเพื่อนแม่เขาเป็นสถาปนิก มีงานทำ เงินดี ลูกก็กรอก สถาปัตย์ ลงในใบสมัครแล้วก็สอบติด  นับเป็นบุญของลูกจริงๆ ที่แม่แนะนำ

ลูกเริ่มชีวิตนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างสง่างามด้วยความภาคภูมิใจและเอื้ออาทรของแม่ตลอดห้าปี  เริ่มต้นด้วยแม่ให้เงินเดือนใช้เดือนละครั้ง  ลูกก็เริ่มหายตัวเป็นเดือน ต่อมาแม่ให้ทุกอาทิตย์ก็หายไปเป็นอาทิตย์  ในที่สุดแม่ก็ให้เป็นวัน แต่สิ่งหนึ่งที่แม่ทำให้ลูกกลับมาบ้านได้สำเร็จ  นั่นก็คือ แม่ยินดีต้อนรับลูกและเพื่อนที่มาใช้โต๊ะตัวใหญ่ของแม่ที่ใช้ทำแพทเทิ่นในตอนกลางวัน ลูกใช้ตอนกลางคืนยันเช้า  แม่ทำอาหารเช้า  ไข่ดาว  ขนมปัง  กาแฟ  มาให้เพื่อนลูกกินกันถ้วนหน้า เวลามีชุดละคร  ชุดพาเหรด  แม่ก็รับเป็นแม่กองให้  เป็นเช่นนี้จนลูกได้เป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

ลูกสอบชิงทุนไปเรียนต่ออยู่ ๓ ปี ที่กรมวิเทศสหการ แต่ไม่สำเร็จ  ลูกเริ่มเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์ เริ่มมีอาชีพเต้นกินรำกิน  แม่เห็นท่าจะไม่ดีตามวิธีคิดของคนสมัยนั้น  แม่จึงตัดสินใจขายที่ที่ผ่อนไว้กับคุณตาไล้  ประจวบเหมาะ  คุณตารับซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าเดิมด้วยเมตตา  แม่ให้เงินลูกทั้งแปดหมื่นบาท  เพื่อเดินทางไปเรียนปริญญาโทสถาปัตย์ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน  ซีแอดเติ้ล  สหรัฐ  ซึ่งมีน้าอู๊ดและน้านิตย์ภริยาทำงานอยู่ที่นั่น  คุณบุรินทร์ วงศ์สงวนเขียนจดหมายรับรองให้เงินที่แม่ให้มันเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดที่แม่เคยมี  แต่แม่ให้ลูกทั้งหมดด้วยความรักและความหวังดีสุดหัวใจ  แน่นอนเงินจำนวนนี้มันไม่พอหรอก  แต่ลูกมีเลือดแม่ที่จะต้องไปหาเอาด้วยลำแข้ง   ลูกเรียนด้วยทำงานด้วยจนได้ปริญญาโทมาสองใบ คือ สถาปัตย์ และการละคร

ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๓-๑๕ ที่ลูกอยู่อเมริกา  แม่ก็ตัดสินใจซื้อบ้านที่สวนอ้อย ซอย ๑  ถนนราชวิถีใกล้โรงพยาบาลวชิระด้วยราคาแปดหมื่นบาท  เป็นเรือนไม้สองหลังมีนอกชานแล่นกลาง  บนพื้นที่ ๓๓ วา เป็นที่ของ สำนักงานทรัพย์สินฯ  แม่ขอเงินคุณสงค์มาสี่หมื่น โดยบอกคุณสงค์ว่าบ้านราคาสี่หมื่นเพื่อไม่ให้คุณสงค์คัดค้าน ส่วนอีกสี่หมื่นแม่ได้รับอนุเคราะห์จากเพื่อนและศิษย์รักโดยไม่คิดดอกเบี้ย  ส่วนใหญ่ใช้หนี้กันด้วยการหักเป็นค่าเย็บเสื้อ  แม่ตั้งใจที่จัดเตรียมบ้านนี้ไว้สำหรับลูกกลับจากอเมริการะหว่างนี้  แม่ยังคงทำงานหนักอย่างเคยคืออาทิตย์ค่ำหรือจันทร์เช้าเดินทางจากเมืองเพชรมากรุงเทพฯ  ศุกร์ค่ำหรือเสาร์เช้าก็กลับเมืองเพชร ไม่ได้หยุดพักเลย

กิจการร้านพรวิษณุซบเซาลง  คุณสงค์กับแม่จึงเซ้งร้านให้คุณหมอคนหนึ่งไป แล้วไปซื้อที่ปลูกบ้านหลังวัดยางและเช่าที่วัดยางทำเป็นโรงเก็บเครื่องไฟขนาดใหญ่ใช้ปั่นไฟงานวัดได้ทั้งงาน  แม่เอาเงินส่วนหนึ่งมาปลูกบ้านใหม่  แต่ก็ผิดหวังกับรูปแบบของบ้านที่ลูกชายออกแบบ  มันดูสวยแต่อยู่ไม่สบาย  ลูกเองก็เสียใจกับเรื่องนี้อยู่ลึกๆ  และเป็นบทเรียนสำคัญให้คำนึงเสมอว่าปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่  แม่ยังคงนอนอยู่ที่ห้องนอนข้างโรงเก็บเครื่องไฟ ไม่ขึ้นไปใช้สอยบนเรือนใหม่ นอกจากใช้รับแขก

ต่อมาในคืนหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘  ลูกบอกกับแม่ว่าจะแต่งงาน  แม่ดีใจมาก    เพราะแม่เป็นกังวลกับชีวิตอันเสเพลของลูกมาก  แม่อยู่เบื้องหลังงานหมั้นและงานแต่งอย่างเงียบๆ  และต้อนรับลูกสะใภ้คือ ธีราพร หรือ คิม เหมือนลูกสาวตนเอง  แถมยังแอบบอกลูกสะใภ้ด้วยว่า ต้องอดทนให้มากเพราะเขาไม่เหมือนใคร คำพูดของแม่แสดงให้เห็นว่า แม่อดทนกับลูกที่ไม่เหมือนใครนี้มาแล้วกว่า ๓๐ ปี ณ เวลานั้น   หลังจากแต่งงานได้เพียงเดือนเดียว ลูกได้รับทุนไปเรียนต่อ ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย โดยออกเดินทางวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๑๙ คิมตามไปด้วย วันพุธที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๒๐ แม่ก็ได้หลานชายชื่อ พร  ที่ทำคลอดโดยคุณหมอทรงฤทธิ์  แม่ลงทุนบินไปช่วยเลี้ยงดูอยู่พักหนึ่ง  แม่ชอบฮาวายมาก  ปี พ.ศ.๒๕๒๑ ลูกกลับมาทำวิจัยปริญญาเอกภาคสนามเรื่องลิเก ที่นครสวรรค์   คิม และ พรอยู่กับแม่ที่สวนอ้อย คิม กลับไปทำงานที่โรงแรมมณเฑียร แม่ก็ช่วยเลี้ยงพร  บางครั้งก็พาพรไปเลี้ยงที่เมืองเพชร

การพาหลานพรไปเลี้ยงที่เมืองเพชร น่าจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้ชีวิตของแม่ต้องผกผันอย่างรุนแรง  คุณสงค์เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งซึ่งมีผู้หญิงมาเกี่ยวข้องอยู่บ้างเป็นครั้งคราว และแม่ก็แก้ปัญหามาได้เสมอ   แต่มาคราวนี้คุณสงค์คงได้แรงบันดาลใจทำให้ความคิดอยากมีลูกเพราะพรเป็นเด็กน่ารักมาก  และผู้หญิงคนใหม่ของคุณสงค์ก็ไม่ใช่ใครเป็นเด็กทำงานในบ้านแม่นั่นเอง  และคุณสงค์ก็เอาเข้ามาอยู่ในบ้านและขอให้แม่ยอมรับ  เรื่องราวอันขมขื่นนี้ แม่ไม่เคยแพร่งพรายให้ลูกซึ่งกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ในฮาวายแล้วได้รับรู้เลย  ลูกมารู้เอาเมื่อตุ๋ยหลานที่แม่รับมาเลี้ยงเล่าให้ฟัง  ในที่สุดแม่ก็ตัดสินใจแยกทางกับคุณสงค์  และเดินทางไปอยู่กรุงเทพฯเป็นการถาวร  แต่ก็ไปๆมาๆเมืองเพชรเพื่อรับผ้าลูกค้าโดยอาศัยค้างอยู่ที่ร้านประสิทธิ์สมของน้ารำเพยเพื่อนสนิท

ลูก คิม และพร  เดินทางกลับไปฮาวายเพื่อเรียนต่อจนจบในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๒๓   จึงเดินทางกลับมาอยู่กับแม่ที่สวนอ้อยอีกครั้ง  เนื่องจากบ้านสวนอ้อยเป็นที่ตัดเสื้อของแม่  มีคนมาก  ลูกกับคิมและพรจึงไปเริ่มมีบ้านของตนเองเป็นทาวน์เฮ้าส์เล็กๆ ที่ซอยลาดพร้าว ๓๙  ลูกรู้ว่าแม่เสียใจที่ลูกหลานไม่ได้อยู่ด้วยกัน  แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันเป็นประจำ  แม่จึงปรับปรุงชั้นบนเป็นหอพักมาจนปัจจุบัน  แม่รับนักเรียนนักศึกษามาอยู่กันแบบลูกหลาน  ผู้ชายเข้ามาได้แต่นั่งคุยหน้าบ้าน ทุกอย่างต้องเป็นระเบียบ รองเท้าถอดแล้วต้องวางบชั้น  มิฉะนั้นจะโดนแม่เอ็ดเอาได้  แม่มีลูก ๆ หลาน ๆ มาอาศัยอยู่ด้วย เช่น ตุ๋ย  ภา  อ้อม  และมด กับพวกญาติทางปักษ์ใต้เป็นครั้งคราว  แม่ไม่เคยคิดเงินกับญาติ ๆ และออกจะมีความสุขที่ได้เป็นที่พึ่งของลูกหลาน  แม่เดินทางไปมากรุงเทพฯ อเมริกาหลายครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑ ครั้งละนาน ๆ เริ่มที่บ้านน้าอู๊ดที่ซิแอตเติ้ล เป็นแห่งแรก

ที่บ้านน้าอู๊ดกับน้านิตย์มีแม่และหลานอีกหลายคนไปอาศัยอยู่ด้วย  น้านิตย์ก็พยายามกำกับดูแลให้ทุกคนได้รับความอนุเคราะห์ตามอัตภาพ แม่เองก็พยายามช่วยดูแลหลานๆให้ปฏิบัติตามให้เหมาะสม  ตัวเองก็ต้องออกไปเป็นช่างเย็บเสื้อที่ในเมืองแต่เช้ามืด  ต่อมาแม่ก็ย้ายไปอยู่กับน้าแต๋วภริยาน้าเปี๊ยก ไปช่วยเริ่มภัตตาคารอาหารไทยที่ฮอลลีวู้ด    ลอสแองเจลีส  แล้วแม่ก็แยกตัวไปอยู่ต่างหากและทำงานที่ร้านอาหารไทยของคุณสมพันธ์ใกล้ ๆ กันนั้นเอง แต่แม่ไม่ค่อยชอบเป็นกุ๊ก  จึงไปรับทำแพทเทิ่นเสื้อให้กับร้านผลิตเสื้อที่คนไทยเป็นเจ้าของ  แม่มีหน้าที่แยกชิ้นส่วน  จัดวางแต่ละชิ้นให้เหมาะกับแนวขวางหรือแนวนอนหรือแนวทแยงของผ้าและวางให้เสียเศษผ้าน้อยที่สุด  จากนั้นก็กำหนดว่า เย็บชิ้นไหนกับชิ้นไหนก่อนเป็นลำดับจนเสร็จเป็นตัวเสื้อต้นแบบ ให้ช่างทั้งหลายทำตาม

ต่อมาน้าแดงกับอ้อยภริยาอพยพไปอยู่อเมริกา  แม่ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลตามสมควรและเมื่ออ๋อยหลานป้าลูกน้าปิ่น พาภริยาคือแป้นและลูกสองคน ไปตั้งรกรากในอเมริกาอีกครอบครัวหนึ่ง แม่ก็ให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งช่วยเลี้ยงลูกชายคนเล็กคือเอิร์กด้วย  และเมื่ออี๊ดน้องอ๋อยกับสาหร่ายสามีที่นิวยอร์คมีลูกคือนีน่า แม่ก็ไปอยู่นิวยอร์คเพื่อช่วยเลี้ยงนีน่าอยู่พักหนึ่ง  จึงกลับมาแชร์อพาทเมนท์กับคุณจวบที่ฮอลลีวู้ด  ลอสแองเจลลิส  แม่เดินทางไปมาในอเมริกาเหมือนเป็นบ้านที่สอง

ลูกขายบ้านที่ลาดพร้าวแล้วมาซื้อบ้านใหม่ที่เมืองทอง ๒/๒ ถนนพัฒนาการ แล้วพาแม่มาอยู่ด้วย  แต่แม่ก็ยังคงเดินทางไปทำงานที่สวนอ้อยของแม่แทบทุกวัน  โดยนั่งรถเมล์ไปกลับ  ลูกเป็นห่วงแต่แม่แข็งแรงมากชอบช่วยตัวเอง  และเพราะการจราจรติดชัดมาก  ทำให้ลูกตัดสินใจมาผ่อนคอนโดที่สี่แยกพญาไท  แต่แม่ไม่ยอมอยู่ทั้ง ๆ ที่อยากจะอยู่ด้วย เพราะแม่ไม่ชอบอยู่ในห้องแคบๆ  ต้องลงลิฟต์คนเดียว ซึ่งแม่กลัวมาแต่ครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่ลอสแองเจลลิส  เพื่อนบ้านก็ไม่มี ต่างคนต่างอยู่  แม่จึงตัดสินใจอยู่บ้านสวนอ้อย  ลูกก็ไปกินข้าวด้วยทุกวันอาทิตย์ที่ร้านข้าวต้มวัดบวรซึ่งแม่ชอบ  ตอนนี้แม่ไม่อยู่แล้วลูกนั่งรถผ่านไปใจหายทุกที  ได้แต่หันไปทางพระอุโบสถวัดบวรอธิษฐานขอให้แม่ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

แม่เป็นคนเข้มแข็งมาก แม่หกล้มกระดูกขาหักเมื่ออายุ ๗๙ เพียงเดือนเดียวก็เดินได้  ต่อมาแม่ไปหกล้มที่บ้านน้ารำเพย ตอนตีสาม  แม่ทนนอนเจ็บอยู่จนหกโมงเช้าจึงโทรมาให้ลูกไปส่งโรงพยาบาลวชิระ  เพราะเกรงใจน้ารำเพย  แม่เคยรักษากับคุณหมอเฉลิมศักดิ์ที่โรงพยาบาลนี้มาแล้ว  ต่อมาแม่ก็เป็นคนไข้เบาหวาน  ความดัน  กระดูก ที่โรงพยาบาลวชิระ  ลูกไปดูแลแม่บ้าง  แต่คิมไปแทนมากกว่า เพราะลูกมักติดสอนหรือประชุม  แต่ก็โทรถามสารทุกข์สุกดิบ  แม่ไม่ค่อยชอบพูดโทรศัพท์นาน ๆ เช่นเดียวกับลูกและมักไม่โทรถึงใคร  แม่ยังรับตัดเสื้ออยู่เรื่อยๆ มีลูกค้าทั้งที่กรุงเทพฯและเมืองเพชร  แต่แม่เบื่อการที่ลูกค้าเอาเสื้อมาแก้  ลูกพาแม่ไปกินข้าววันสำคัญ เช่น วันเกิด  วันคริสมาสต์ เมนูและร้านที่แม่ชอบกิน  ได้แก่  แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากรายที่ร้านเสวย  สตูลิ้นวัวและสลัดเนื้อสันที่ร้านฟูมุ่ยกี่ ถนนสุรวงค์  หลนปูเค็มและยำถั่วพูร้านจันท์คณา   ถนนศรีอยุธยา  โกยซีหมี่ที่ร้านท่องกี่ ถนนสุขุมวิท  และแม่ก็ชอบที่หลานอ๋อยพาแม่น้าปิ่นและหลาน ๆ ไปกินอาหารทะเลที่ต่างๆ  แม่กินได้ทุกอย่างทุกเวลาและมีวินัยในการกินยา  แม่อายุ ๘๔ ปีไม่หลงลืม  ยังสั่งการได้ทุกๆเรื่อง  แม่ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ที่เมืองเพชรเป็นครั้งคราว  แล้วก็ค่อยๆร่อยหรอไปทีละคนจนต้องเลิกไปกันเมื่อน้ารำเพยซึ่งเป็นหัวหน้าทัวร์สิ้น

แม่มีเด็ก นักศึกษา คนทำงานมาเช่าหอแก้เหงา  มีเพื่อนบ้านดีๆอย่าง น้าทวนและน้าสาคร มาคุยด้วยหรือทำกับข้าวมาฝาก  มี น้าประภาศรี มาเยี่ยมพร้อมขนมนมเนยเป็นครั้งคราว  มี พี่สุรีย์ ลูกน้องเก่ากับ น้าสุไอ๊ และ เค็ง มาเยี่ยมบ้าง และแม่ก็ให้ลูกพาไปเยี่ยม คุณยอม เพื่อนเก่าบ้าง  เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและสวนสุนันทามีการขยายวิทยาเขตไปที่อื่น นักศึกษาที่มาเช่าหอก็น้อยลง  กับทั้งแม่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องผู้ชาย  ทำให้มีคนมาเช่าน้อยลง  กลางวันแม่จึงค่อนข้างเหงา  ลูกหาคนใช้มาแม่ก็ไม่ค่อยชอบที่มีคนมาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ โดยไม่ช่วยทำอะไร  พอใจที่จะเรียกใช้ รัตน์ ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ ได้ไหว้วานเป็นเรื่อง ๆ เช่น ซื้อของ  ทำความสะอาด เอาผ้าไปอาบน้ำยา และมี ช่างเหลียว ได้ซ่อมบ้าน  ดัดแปลงภายในภายนอกสารพัดตามที่แม่ต้องการ

เมื่อประมาณเดือนเมษายน  แม่สั่งเหลียวให้ทาสีบ้าน และบอกว่าทำบ้านให้สวยก่อนแม่ตายจะได้ไม่มีใครว่า  วันเสาร์ที่ ๑๗ พ.ค. ๒๕๕๑ บ่ายสามโมงเศษ แม่ปวดท้องรุนแรง  คุณภา เพื่อนบ้านพาไปห้องฉุกเฉิน  โรงพยาบาลวชิระ แม่ขับถ่ายไม่ออก  คิมรีบกลับจากการประชุมที่จันทบุรี  ลูกลงเรือบินจากเขมรสามทุ่มก็มุ่งตรงไปที่โรงพยาบาล แม่บอกกับหมอว่าเป็นป่วงคือขับถ่ายไม่ออก  แต่หมอคิดว่าน่าเป็นเรื่องของไตหรืออวัยวะภายในที่อาจต้องผ่าตัด เมื่อผลเอ็กซ์เรย์ออกมาพบว่า มีอุจจาระมากในทางเดินอาหาร ไม่ใช่อาการทางศัลยแพทย์ จึงโอนไข้ไปทางอายุรแพทย์  ลูกโทรขอให้คุณหมอเฉลิมศักดิ์  หมอกระดูกของแม่ช่วยหาห้องพิเศษให้  ก็ได้ห้องพิเศษตอนตีสาม จึงย้ายเข้าไปห้อง ๑๓๑๔

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พ.ค.๒๕๕๑  อาคารของแม่ไม่ดีขึ้น  มีการสวนทวารสองครั้ง มด หลานที่แม่ให้เฝ้าไข้เล่าว่ามีอุจจาระออกมามาก ความดัน น้ำตาล ลดต่ำเหลือเพียง ๕๗ จนแม่จำหลานมดที่เฝ้าไข้ไม่ได้  ต้องให้น้ำเกลือ  และยาระบาย  อาการก็ไม่กระเตื้อง  น้าแป๊ดและน้าโถภริยาน้าหนิท  ญาติผู้ใหญ่และเป็นพยาบาลก็ซักถามการรักษาจากหมอด้วยความกระวนกระวายใจ  ก็ได้คำตอบต่างๆ จากแพทย์  หลานอ้อมที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และลูกกับญาติได้ปรึกษากันจะนำแม่ไปรักษาที่นั่น  ลูกก็เห็นด้วย  แม่ก็ตกลง  แต่อาการของแม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในวันจันทร์ที่ ๑๙ ซี่งตรงกับวันวิสาขะบูชา เราก็ปรึกษากัน จึงคิดว่ารอให้อาการของแม่นิ่งสักหน่อย วันที่ ๒๐ ค่อยย้ายโรงพยาบาล  ครั้นวันที่ ๑๙ พ.ค. เวลาประมาณบ่ายสองโมงเศษ  แม่บ่นหิวให้มดไปซื้อโจ๊กร้อน ๆ มาให้กิน  ระหว่างที่รอแม่มีอาการกระวนกระวาย  น่าเปี๊ยกมานั่งจับมือแม่คุยด้วยข้างเตียง แม่มีอาการร้อนเหงื่อออกมาก  น้าแป๊ดเรียกหมอดูอาการและซักถามอาการต่างๆ  หมออธิบายอาการและการรักษาให้น้าแป๊ดฟัง  น้าแป๊ดก็มีอาการสงบลง ลูกก็ฟังอยู่ด้วย  แต่คิดอะไรไม่ออกบอกไม่ถูกว่าจะช่วยแม่อย่างไรในขณะนั้น  เมื่อแม่หิวข้าว ก็คิดว่าอาการยังไม่ถึงวิกฤต  แต่หารู้ไม่เมื่อมดป้อนโจ๊กช้อนที่ ๔ แม่ซึ่งอยู่ในท่านั่งบนเตียงก็หงายศีรษะนิ่งไป คิมตะโกนขึ้นว่า ทำไมแม่หงายหลังไปทั้งๆที่ข้าวอยู่ในปากเดี๋ยวสำลัก  แม่ตาค้าง ลูกจับมือขวาแม่ ช้อนศรีษะขึ้นพลางเรียก แม่ แม่ แม่....

หมอวิ่งเข้ามาปฐมพยาบาล  ทุกคนตกใจ ชุดกู้ชีวิตเข้ามาช่วยหายใจ โดยการเอาเครื่องครอบกับปากและจมูกพร้อมบีบลมช่วย  หมอผู้หญิงปั๊มหัวใจ  หมอผู้ชายสอดสายยาง  มีพยาบาลช่วยกัน ๓-๔  คน ลูกเห็นน้ำสีน้ำตาลข้นๆ ไหลออกมาจากปากแม่อย่างมากมาย มันเป็นเศษอาหารที่สั่งสมอยู่และทำให้แม่อึดอัดหายใจไม่สะดวก  มันทะลักออกมาเปรอะเสื้อและที่นอนเต็มไปหมด  หมอไล่พวกญาติออกมาข้างนอก  ลูกออกมาเป็นคนสุดท้ายและยืนดูอยู่นอกห้อง  เห็นการช่วยปั๊มหัวใจจากทางช่องกระจกเล็กๆที่ประตู  ทุกคนร้องไห้ ลูกใจแทบขาดแต่ไม่มีน้ำตาสักหยด  หมอเรียกลูกกับน้าแป๊ดซึ่งเป็นพยาบาลเข้าไปอธิบายการปั๊มหัวใจและการใช้เครื่องช่วยหายใจ  แต่ยังไม่ได้ผลจะลองครั้งที่สามเป็นครั้งสุดท้าย  ในที่สุดหมอก็ออกมาบอกว่าไม่สำเร็จ ต้องช๊อตด้วยไฟฟ้า  ทั้งน้าแป๊ดและลูกก็ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น  คำตอบคืออาจเป็นเจ้าหญิงนิทรา  ลูกเคยเห็นคุณป้าควีนนี่นอนเป็นเจ้าหญิงนิทราถึงเจ็ดปีเศษจึงตัดสินใจบอกหมอว่า ปล่อยแม่ไป   ในชีวิตนี้ลูกไม่เคยพูดอะไรที่เจ็บปวดสุดหัวใจเช่นนี้  แต่ลูกจำเป็นต้องพูด  แม่จากลูกและญาติพี่น้องไปอย่างรวดเร็ว  แม่เคยปรารภและภาวนาว่า ถ้าแม่จะจากโลกนี้ไปขอให้ไปอย่างรวดเร็วดังนี้  แม่เข้มแข็งจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต

ขอให้บุญกุศลที่แม่ได้กระทำมาตลอดชีวิต จงดลบันดาลให้แม่ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ  หากชาติหน้ามีจริง  ลูกขอเป็นลูกของแม่ตลอดไป

กราบแม่ด้วยความรักและอาลัยยิ่ง

แก่ ลูกแม่

 
ความส่งท้าย
       ผมได้เล่าอาการของคุณแม่ให้คุณหมอสะอาดที่โรงพยาบาลราชวิถีฟัง ก็ได้รับคำอธิบายซึ่งควรจะได้รับทราบกันเป็นความรู้  คุณหมอให้ความเห็นว่า  คนไข้อาจมีอาการระบบย่อยอาหารไม่ทำงาน  มีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ จึงทำให้เจ็บในท้องอย่างมาก เช่นเดียวกับอาการปวดศีรษะ  กระเพาะจึงย่อยอาหารไม่ค่อยได้และพยายามย่อยจึงมีเลือดออกภายใน  การสวนทวารในผู้ป่วยสูงอายุทำให้ความดันลด เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจึงมีอาการมึนงง และมักติดเชื้อได้ง่ายเพราะมีภูมิต้านทานน้อย  คุณแม่มีกล้ามเนื้อหัวใจโตอยู่ก่อนแล้ว  การรับประทานอาหารในขณะที่หิวจัดอาจทำให้ต้องการเลือดเร่งด่วนไปเลี้ยงกระเพาะ  หัวใจจึงขาดเลือดกะทันหัน    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยา ที่อาจตอบเหตุแห่งการเสียชีวิตของคุณแม่ได้ทางหนึ่ง

       อนึ่ง ผมต้องขอขอบพระคุณญาติและมิตรหลายรายที่ปลอบใจให้คลายทุกข์  ท่านให้ผมมองการเสียชีวิตของคุณแม่นั้นเป็นไปตามธรรมดาโลก  คุณแม่จากไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่เป็นแรมเดือนแรมปีก่อนจะจากไป  คุณแม่เป็นคนมีบุญ มีอายุยืน จึงได้มีเวลาทำบุญไว้มาก เมื่อคุณแม่จากไป  เราผู้อยู่เบื้องหลังจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้  ผมก็ขอกราบขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

         สุรพล  วิรุฬห์รักษ์

 

 

 
นาฏยทฤษฎี ๒/๑๐
โพเอติกา ของ อริสโตเติ้ล

          อริสโตเติ้ล(Aristotle) เป็นนักปราชญ์ชาวกรีก(พ.ศ.๑๕๙-๒๒๑) เกิดที่ เมืองสตากิร่า เมื่อ พ.ศ.๑๕๙ เมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็เดินทางมาเมืองเอเธนส์เพื่อเป็นศิษย์ของเพลโตและอยู่ ๒๐ ปีจนเพลโตเสียชีวิตจึงเดินทางไปรับใช้พระราชาแห่งเฮอมิอาส ๓ ปี จากนั้นก็ไปรับใช้พระเจ้าฟิลลิปส์แห่งมาเซโดเนียและเป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราขอยู่ ๘ ปี เมื่อพระเจ้าฟิลลิปส์สิ้นพระชนม์ อริสโตเติ้ลได้ตั้งโรงเรียนชื่อ ไลเซียมที่เอเธนส์ นาน ๑๒ ปี อริสโตเติ้ลสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๒๑ อริสโตเติ้ลเขียนตำราวิชาการเชิงปรัชญาไว้ในหลายสาขา ฟิสิกส์ เมตาฟิสิกส์ บทกวี การละคร ตรรกวิทยา วาทวิทยา ภาษาศาสตร์ การเมือง การปกครอง จริยธรรม ชีววิทยา และสัตววิทยา อริสโตเติ้ลเป็นปราชญ์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อปรัชญาตะวันตกตราบเท่าปัจจุบัน

โพเอติกา(Poetica) เป็นนาฏยทฤษฎีที่อริสโตเติ้ลเขียนขึ้นโดยอาศัยบทละครอันเป็นผลงานของกวีกรีกในสมัยนั้น แต่ผลการวิเคราะห์และสังเคราะห์ของอริสโตเติ้ลนั้นเกิดเป็นทฤษฎีที่นำมาใช้ได้กับการละครโดยทั่วไป โพเอติกาฉบับย่อมีปรากฏอยู่ทั่วไปในยุคกลางและเผยแพร่มาจนกระทั่ง จอจิโอ วาลลา แปลเป็นภาษาละตินและตีพิมพ์ในเวนิสเมื่อ พ.ศ.๒๐๔๑ ต่อมา อาลดิน ได้พิมพ์ฉบับภาษากรีกขึ้นเมือ่ พ.ศ.๒๐๕๑ จากนั้นมา โพเอติกาก็แพร่หลายไปทั่วยุโรปและมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ อีกทั้งนำไปใช้อย่างกว้างขวาง โพเอติกา นับเป็นนาฏยทฤษฎีเก่าที่สุดและเป็นหลักวิชาการละครของโลกตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน 

(European Theories of the Drama. Barrett H. Clark. Cincinnati: Stewart & Kidd Company, 1918.)

โพเอติกา มีสาระพอสรุปได้ดังนี้

. Imitation การเลียนแบบ มนุษย์มีสัญชาติญาณของการลียนแบบ และแสดงออกของการเลียนแบบด้วยการพูด การเขียน การทำท่าทาง เมื่อจะแสดงตนเป็นตัวละครก็ต้องใช้ศิลปะแห่งหารเลียนแบบให้เหมาะสม                                                                                                                    ๑.๑  Medium คือ สื่อในการแสดงผลของการเลียนแบบ ซึ่งมีสื่อหลายประเภท เช่น สื่อภาษา สื่อภาพ สื่อเสียง                                                                                                                     ๑.๒ Objects คือ ตัวต้นแบบที่ผู้แสดงเลือกมาใช้ในการเลียนแบบเพื่อสร้างตัวละครที่ตนจะสวมบทบาท ดังนั้นตัวต้นแบบอาจมีหลายตัวที่ผู้แสดงเลือกแง่มุมของตัวต้นแบบที่ตนเห็นเหมาะมาผสมผสานกันเป็นตัวละคร                                                                                                                    ๑.๓ Manner คือ วิธีนำเสนอการเลียนแบบซึ่งมีหลายวิธี เช่น การเล่าเรื่อง การขับร้อง การแสดงละคร                                                                                                                   

. Poetry คือ กวีนิพนธ์ที่มนุษย์พัฒนาจากการเลียนแบบให้เป็นระบบที่สื่อความหมายได้ชัดเจนงดงามเกิดจินตนาการและอารมณ์คล้อยตาม                                                               ๒.๑ Comedy คือ กวีนิพนธ์ที่มุ่งเลียนแบบเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน โดยใช้ตัวต้นแบบเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย มีกิริยาที่หยาบ มีความคิดที่โง่เขลา เป็นกวีนิพนธ์ที่ใช้การแสดงเป็นละคร มีการลงไม้ลงมือในการแสดงออกแต่ต้องไม่จริงจังเพราะคนดูจะรู้สึกเจ็บปวดไปกับตัวละครผู้โดนกระทำแล้วจะไม่ขบขัน ภาษาไทยเรียกว่า สุขนาฏกรม                                                         ๒.๒  Epic คือ กวีนิพนธ์ที่ใช้การเล่าเรื่องด้วยบทพรรณนาร้อยกรองขนาดยาว ใช้ฉันทลักษณ์ชนิดเดียว ตัวละครเอกเป็นมนุษย์ผู้สูงส่งมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำกัดเวลาในท้องเรื่อง ภาษาไทยเรียกว่า มหากาพย์ ซึ่งมีความหมายต่างไปจาก รูปแบบหนึ่งของกวีนิพนธ์สันสกฤต    ๒.๓ Tragedy คือ กวีนิพนธ์ที่มุ่งเลียนแบบเพื่อให้เกิดความโศกเศร้าสะเทือนใจ เป็นกวีนิพนธ์ใช้การแสดงละครที่จริงจัง ต้องจบการแสดงให้เห็นผลกรรมของตัวละครเอกอย่างสมบูรณ์ ต้อวงทำให้คนดูเกิดความเห็นใจในชะตากรรมของตัวละครและเกิดความหวั่นใจว่าผลกรรมเช่นนั้นแจเกิดกับตนได้ ภาษไทยเรียกว่า โศกนาฏกรรม                                                                                                            
. Elements of Tragedy ปัจจัยของโศกนาฏกรรม

๓.๑  Plot โครงเรื่อง คือ การลำดับความคิดและเหตุการณ์สำคัญในการดำเนินเรื่อง                   
๓.๑.๑ Unity of Plot เอกภาพของโครงเรื่อง          
๓.๑.๒ Law of Probability or Necessity การดำเนินเรื่องต้องมีความเป็นไปได้จริงสมเหตุสมผลไม่บิดเบือน                                                                                                                   
๓.๑.๓ Simple and Complex Plot การดำเนินเรื่องมีสองแบบคือ แบบตรงกับแบบซ่อนเงื่อนหรือการแสดงความยอกย้อนของชะตากรรมของตัวละคร                                                             
๓.๑.๔ Peripeteia เปอริเปอติเอ้ เป็นการพลิกชะตากรรมของของตัวละครไปในทางตรงข้ามอย่างกระทันหัน เช่นการสรรเสริญกลับเป็นผลร้ายแก่ผู้ได้รับการสรรญเสริญ                       
๓.๑.๕ Recognition เป็นสัญญะบางอย่างซึ่งทำให้ชะตากรรมของตัวละครเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม เช่น ปาน แผลเป็น สร้อยที่ได้รับมาแต่เยาว์ ข้อมูลที่ค้นพบใหม่                                              
๓.๑.๖ Complication and Unraveling เป็นการสร้างเรื่องที่ต้องชวนติดตาม มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมีการค่อย ๆ เปิดเผยความลับทีละน้อย                                                                         
๓.๑.๗ Plot Structure ลำดับขั้นของโครงเรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการแสดง แบ่งเป็น ๕ ส่วน คือ เริ่มเรื่องและปูพื้นเรื่อง (Exposition), เกิดความขัดแย้งและดำเนินเรื่องเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ(Rising Action), เหตการณ์ที่ทำให้วิถีชีวิตของตัวละครเริ่มเปลี่ยนไป(Turning Point), เหตุการณ์ที่ดำเนินต่อมาและทำให้ความลับคลี่คลาย(Falling Action), จุดแตกหักระหว่างสองฝ่ายและความลับถูกเปิดเผย(Climax), การสรุปเรื่องให้จบลงอย่างสมบูรณ์(Conclusion)                                                                                                                     
๓.๑.๘ Pity and Fear คือ ความเห็นใจและความหวั่นใจ ซึ่งเหตุการณืที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว มี ๔ ลักษณะ คือ ๑.การกระทำนั้นตัวละครรู้ตัวและจำเป็นต้องทำโดยไม่มีทางเลือก ๒.การกระทำนั้นเกิดจากความไม่รู้และมาพบความจริงในภายหลัง ๓.ต้องลงมือกระทำแต่ทำไม่ได้เพราะรู้ว่าผู้ที่ตนจะลงมือกระทำเป็นใคร ๔.เกือบลงมือกระทำเพราะไม่รู้ แต่พบความจริงก่อนลงมือกระทำ

๓.๒ Character คือ กวีต้องสร้างตัวละครที่มีรูปร่าง นิสัย ความคิด และพฤติกรรมอย่างสมเหตุผล เป็นความจริง ไม่มีปาฏิหาริย์ ตัวละครในโศกนาฏกรรมต้องเป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีอุดมการณ์ มีคงามมุ่งมั่น มีความกล้าหาญ เสมอต้นเสมอปลาย

๓.๓ Thought คือ กวีต้องแสดงความคิดของเรื่องให้สื่อได้ด้วยคำพูดและท่าทางของตัวละครทั้งทางตรงและทางอ้อม

๓.๔ Diction คือ กวีต้องสร้างคำพูดของตัวละครที่แสดงความคิดและอารมณ์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งการพูดตรง ๆ พูดโดยอ้อม พูดแบบเปรียบเปรย

๓.๕ Song คือ การพูดอย่างมีลีลา การขับลำนำ การขับร้อง และการบรรเลงดนตรี มีบทบาทสำคัญในการให้รสชาติแก่การแสดง จึงต้องใช้ฉันทลักษณ์อย่างเหมาะสมกับบุคคล กาละ เทศะ

๓.๖ Spectacle คือ ความตระการตา ได้แก่ฉาก เครื่องต่งกาย อุปกรณ์การแสดง ที่ทำให้การแสดงมีความงดงามตระการตาแลดูสมจริงมากยิ่งขึ้น

. Purgation of Emotion เป็นคุณสมบัติของโศกนาฏกรรมเมื่อจบการแสดงแล้วต้องทำให้คนดูเกิดความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกโล่งใจว่าตนได้ผ่านพ้นวิกฤติที่จำลองให้เห็นบนเวทีนั้นมาได้

นาฏยทฤษฎี ๑/๑๐
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์
ราชบัณฑิต สาขานาฏกรรม สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
เอกสารประกอบกาารบรรยาย สำนักศิลปกรรม วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๕

บทคัดย่อ
นาฏยทฤษฎี หมายถึง หลักคิดและหลักปฏิบัติของสาขาวิชานาฏกรรม เพื่อเป็นแนวทางสร้างสรรค์ความงามและความสำเร็จของการแสดง  โดยข้อมูลคือการปฏิบัติของนาฏกรรมที่สั่งสมมานานทั้งข้อดีและข้อเสีย มาวิเคราะห์และสังเคราะห์โดยนักคิดแล้วจารึกไว้เป็นตำราสำหรับผู้มุ่งศึกษาด้านนาฏยศาสตร์สืบมา นาฏยทฤษฎีที่นิยมนำมาศึกษา ๔ ทฤษฎี คือ
๑. โพเอติกา ของ อริสโตเติ้ล กรีก ๒. นาฏยศาสตร์ ของ ภรตมุนี อินเดีย ๓. ฟูจิคาเด็ง ของ โมโตกิโย ซิอามิ ญี่ปุ่น ๔. สตานิสลาฟสกี้ซิสเต็ม ของ คอนสแตนติน เซเกเยวิช สตานิสลาฟสกี้ รัสเซีย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่ผู้ศึกษาด้านนาฏยศิลป์ต้องเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์การแสดงให้สำเร็จ ได้แก่ ทฤษฎีดุริยางคศิลป์ ทฤษฎีทัศนศิลป์ ทฤษฎีจลนศิลป์ ทฤษฎีนิเทศศิลป์ และเพื่อให้ผู้ศึกษาประกอบกิจการทางนาฏกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้ศึกษาก็ต้องมีความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับงานนาฏกรรม ได้แก่ ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ พานิชยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การสร้างหลักสูตรสาขาวิชานาฏยศาสตร์ แบ่งกลุ่มวิชาออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ กลุ่มวิชาบรรยาย กลุ่มวิชาปฏิบัติบรรยาย และ ปฏิบัติบรรยายสร้างสรรค์ กลุ่มวิชาบรรยาย มีเนื้อหาหลัก ๑๐ วิชาคือ นาฏยประวัติ(History) นาฏยวิจัย(Research) นาฏยรังสรรค์(Design) นาฏยธุรกรรม(Management) นาฏยประดิษฐ์(Choreography) นาฏยวรรณกรรม(Literature) นาฏยดุริยางค์(Music) การแสดงและการกำกับการแสดงละคร(Acting and Directing) นาฏยทฤษฎี(Theory) กลุ่มวิชาปฏิบัติบรรยาย มีเนื้อหาหลัก ๓ กลุ่มวิชาคือ นาฏยกรรมแบบประเพณี นาฏกรรมแบบสร้างสรรค์
จากวิชาต่าง ๆ ที่กล่าวมาในเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าการศึกษาด้านนาฏยศิลป์ต้องมีเนื้อหาของวิชาสาขาต่าง ๆ อย่างมากเพื่อให้ผู้ศึกษาได้นำไปประกอบอาชีพนาฏกรรมสาขาต่าง ๆ ได้สำเร็จผลตามที่ตนถนัดและสนใจ
บทความ
นาฏกรรม เป็นคำที่สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดเรียกวิชาสาขาหนึ่งที่ในปัจจุบันมีการจัดการศึกษาด้านนาฏกรรมในระดับอุดมศึกษา โดยมีการเรียกเป็นหลายชื่อ เช่น นาฏศิลป์ นาฏยศิลป์ ศิลปะการแสดง ศิลปการแสดง ศิลปการละคร เป็นต้น เนื้อหาของหลักสูตรมีรายวิชาตามเกณฑ์ของสำนักการอุดมศึกษา คือ วิชาการศึกษาทั่วไป ๓๐ หน่วยกิต วิชาเลือกเสรี ๖ หน่วยกิต และประมาณการ วิชาแกนคณะ ๙ หน่วยกิต วิชาเอกบังคับ ๔๘ หน่วยกิต วิชาเอกเลือก ๑๘ หน่วยกิตวิชาบูรณาการ ๖ หน่วยกิต รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๒๐ หน่วยกิต ซึ่งหลักสูตรสาขาวิชานาฏกรรมมักจัดให้นินิตนักศึกษาเรียน ประมาณ ๑๓๒-๑๓๖ หน่วยกิต ลดลงจากเดิมซึ่งเคยเรียนถึง ๑๔๘ หน่วยกิตก็มี การผลิตบัณฑิตสาขานี้มีวิชาที่บังคับเรียน ๙ หมวดคือ นาฏยประวัติ(History of Performing Arts) นาฏยวิจัย(Performing Arts Research) นาฏยรังสรรค์(Performing Arts Design and Construction) นาฏยธุรกรรม(Performing Arts Management) นาฏยประดิษฐ์(Choreography) นาฏยวรรณกรรม(Performing Arts Literature) นาฏยดุริยางค์(Music) การแสดงและการกำกับการแสดงละคร(Acting and Directing) นาฏยทฤษฎี(Performing Arts Theory)  สำหรับวิชาการฝึกทักษะ(Dance Studios) ซึ่งนิยมแบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ นาฏกรรมไทย(Thai Classical Dance and Dance Drama) นาฏกรรมพื้นบ้าน(Folk Dance and Drama or Ethnic Dance and Drama) นาฏกรรมสากล(Western Dance, Ballet and Contemporary Dance นาฏยประดิษฐ์(Choreography) การแสดงละคร(Acting) การกำกับการแสดง(Directing) นิสิตนักศึกษาต้องทำปริญญานิพนธ์เป็นการสอบออก(Exit Examination) ๓ หมวด คือ การสอบการแสดงเดี่ยว การสอบการสร้างสรรค์งานนาฏกรรม และรายงานการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นาฏกรรมของแต่ละคน  เมื่อพิจารณาจากหลักสูตรดังกล่าวจะพบว่า การศึกษาสาขานาฏกรรมระดับอุดมศึกษา มีสาระครอบคลุมศิลปศาสตร์หลายสาขาทั้งโดยรอบและโดยลึก ดังจะกล่าวพอเป็นสังเขปดังนี้
นาฏยปริทัศน์ คือ การให้ความรู้ในภาพรวมของการศึกษาสาขาวิชานาฏกรรม บทบาท หน้าที่ รูปแบบ เนื้อหา การออกแบบ การประกอบสร้าง ศิลปศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาการทางนาฏกรรม

นาฏยประวัติ(History) คือ ความเป็นมาของนาฏกรรมของโลกตะวันออกและตะวันตก ประวัตินาฏกรรมตะวันออกไม่สามารถบูรณาการเป็นเนื้อหาเดียวกันได้ จึงต้องจัดแบ่งไปตามกลุ่มประเทศซึ่งอิงกับชนเผ่าของโลกตะวันออก ได้แก่ กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มเอเซียใต้ กลุ่มเอเซียตะวันออก กลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับโลกตะวันตกเน้นยุโรปและอเมริกา เริ่มตั้งแต่อีจิปต์จนถึงปัจจุบัน โดยจัดเนื้อหาตามการจัดยุคของศิลปะตะวันตก เช่น ยุคกรีกและโรมัน(Classic) ยุคกลาง(Medieval) ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม(Romanesque and Renaissance) ยุคใหม่(Modern) ยุคปัจจุบัน(Contemporary) และยุคหลังยุคใหม่(Post Modern) นอกนั้นยังมีกลุ่มที่ยังไม่ได้จัดความรู้ให้มากพอสำหรับการศึกษาในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอาฟริกา กลุ่มละตินอเมริกา และกลุ่มโพลีนิเซีย

นาฏยวิจัย(Research) คือ หลักการและวิธีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และแบบผสมผสานทั้งปริมาณและคุณภาพ การวิจัยในแนวประวัติศาสตร์ แนวทดลอง แนวสร้างสรรค์ แนวอาศรมศึกษา การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ข้อค้นพบ การสรุปความรู้ที่น่าจะเป็นข้อค้นพบใหม่ ๆ

นาฏยรังสรรค์(Design) คือ หลักการออกแบบและก่อสร้างฉาก อุปกรณ์ฉาก เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์การแต่งกาย การแต่งหน้า รูปแบบของฉากและเครื่องแต่งกายยุคต่าง ๆ สไตล์ต่าง ๆ คือแบบสมจริง แบบธรรมชาตินิยม แบบนามธรรมนิยม แบบปริมาตรนิยม แบบหน่วยประกอบสร้าง แบบอนาคตนิยม

นาฏยธุรกรรม(Management) คือ หลักการและวิธีการจัดการอาคารการแสดง คณะแสดง การแสดงในสถานที่และนอกสถานที่ การจัดการสถานศึกษาด้านนาฏกรรม การตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดการทรัพยากรณ์ การจัดการบุคคลากร กฎหมายแพ่งและพานิชย์ กฎหมายแรงงาน กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

นาฏยประดิษฐ์(Choreography) คือ หลักการและวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการฟ้อนรำ การหาข้อมูล แรงบันดาลใจ นวัตกรรมการออกแบบและประกอบสร้าง การกำหนดแนวคิดของเนื้อหาและรูปแบบ การพัฒนาการออกแบบท่าทาง การเคลื่อนไหว แนวทางและการวิเคราะห์ดนตรี ความสัมพันธ์ของการแสดงกับฉาก เครื่องแต่งกาย แสงสีเสียง อุปกรณ์การแสดง การคัดเลือกผู้แสดง การฝึกซ้อม

นาฏยวรรณกรรม(Literature) คือ รูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมทางการแสดงที่เป็นตัวอย่างที่ดีของวงวิชาการนาฏกรรม การวิเคราะห์โครงสร้างของเรื่อง เนื้อเรื่อง บทเจรจา บุคคลิกลักษณะตัวละคร บริบททางสังคมวัฒนธรรม บัญญัตินิยมของนาฏกรรมแต่ละประ
นำมาใช้ในนาฏกรรม การเปล่งเสียง การขับร้อง บัญญัตินิยมของการใช้ดนตรีในนาฏกรรม รูปแบบของดนตรีแนวต่าง ๆ และยุคต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์นาฏกรรม
การแสดงและการกำกับการแสดงละคร(Acting and Directing) คือ บทบาทหน้าที่และวินัยของนักแสดง หลักการและวิธีการแสดง สาตวิกศิลป์หรือศิลปะแห่งการเลียนแบบ(Imitation Arts) การตีบท การสร้างและส่งอารมณ์ให้ตัวละครอื่นและผู้ดู ปฏิสัมพันธ์ของตัวละครบนเวที บทบาทหน้าที่และวิธีการเป็นผู้กำกับการแสดง การวิเคราะห์บท การปรับปรุงบท การวิเคราะห์ตัวละคร การวิเคราะห์สถานการณ์ของเรื่อง การกำหนดแนวการแสดง การคัดเลือกนักแสดง การสื่อสารกับผู้ร่วมงานด้านต่าง ๆ
นาฏยทักษะ(Studio) คือ การฝึกการแสดงตามแต่ละสาขาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูงเป็นลำดับ มีทั้งหมด ๗-๘ วิชา วิชาทักษะนี้เป็นวิชาปฏิบัติบรรยายที่ต้องมีครูกำกับอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยครูเป็นผู้ปฏิบัติโดยอธิบายและสาธิตเป็นต้นแบบให้นิสิตนักศึกษาทำตามและครูคอยปรับแก้ให้ถูกต้องพร้อมอธิบายความผิดถูกให้เข้าใจและทำซ้ำจนซึมซับเข้าไปในกายตนตั้งแต่ง่ายไปหายาก สำหรับการฝึกด้านการแสดงละครพูดนั้น เป็นการฝึกหัดแสดงบทที่ง่ายเรื่อยไปจนถึงบทที่ต้องแสดงอารมณ์และกิริยาท่าทางของตัวละครอันมีชั้นเชิงซับซ้อน นอกขากนี้ในปัจจุบันยังต้องมีความรู้เรื่องการแสดงทางสื่อต่าง ๆ อีกด้วย
วิชาเลือกที่สำคัญ นอกจากนี้บางหลักสูตร มีวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องเช่น วิชาสรีรวิทยา Anatomy เพราะร่างกายนับเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแสดงและผู้เรียนควรรู้ วิชา นาฏยบำบัด Dance Therapy สำหรับการใช้นาฏยศิลป์รักษาหรือฟื้นฟูผู้ป่วยทำนองเดียวกันกับ ดนตรีบำบัด และวิชา นาฏยอุบัติเหตุ Dance Injury เพื่อป้องกันและปฐมพยาบาลหากเกิดอุบัติเหตุจากการฝึกการซ้อมและการแสดง และเพื่อให้ผู้ศึกษาประกอบกิจการทางนาฏกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้ศึกษาก็ต้องมีความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับงานนาฏกรรม ได้แก่ ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ พานิชยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์
 ความรู้ด้านต่าง ๆ ทางนาฏกรรมที่กล่าวนำมาในเบื้องต้นโดยสังเขปก็เพื่อให้เห็นภาพรวมของสรรพวิชาที่ประกอบกันเป็นนาฏยศาสตร์ สำหรับนาฏยทฤษฎีที่เป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่ง จะได้พรรณนาโดยละเอียดให้เห็นจุดเด่นเป็นพิเศษว่า นาฏกรรมก็มีศาสตร์ชั้นสูงที่ลุ่มลึกของตนโดยเฉพาะ ไม่ใชเป็นเพียงวิชา “เต้นกินรำกิน” อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
นาฏยทฤษฎี คือ หลักคิดและหลักปฏิบัติของสาขาวิชานาฏกรรม เพื่อเป็นแนวทางสร้างสรรค์ความงามและความสำเร็จของการแสดง  นาฏยทฤษฎีเกิดจากการนำข้อมูลทางนาฏกรรมคือปฏิบัติการทางการแสดงที่สั่งสมมานานหลายพันปีทั้งข้อดีและข้อเสีย มาวิเคราะห์และสังเคราะห์โดยนักคิดแล้วจารึกไว้เป็นตำราสำหรับผู้มุ่งศึกษาด้านนาฏยศาสตร์สืบมา นาฏยทฤษฎี อาจแบ่งสาระออกได้เป็น ๓ ประการคือ ๑.ปรัชญาของการแสดง ๒.บัญญัตินิยมของการแสดง ๓.วิธีฝึกตนให้บังเกิดสัมฤทธิผลทางการแสดง
นาฏยทฤษฎีที่นิยมนำมาศึกษามี ๔ ทฤษฎี คือ ๑. โพเอติกา ของ อริสโตเติ้ล (กรีก) ๒. นาฏยศาสตรา ของ ภรตมุนี (อินเดีย) ๓. ฟูจิคาเด็ง ของ โมโตกิโย ซิอามิ (ญี่ปุ่น) ๔. สตานิสสลาฟสกี้ซิสเต็ม ของ คอนสแตนติน เซเกเยวิช สตานิสลาฟสกี้ (รัสเซีย) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่ผู้ศึกษาด้านนาฏยศิลป์ต้องเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์การแสดงให้สำเร็จ ได้แก่ ทฤษฎีดุริยางคศิลป์ ทฤษฎีทัศนศิลป์ ทฤษฎีจลนศิลป์(Kinetic Arts)  และ ทฤษฎีนิเทศศิลป์(Communication Arts)
เภท การเขียนบทเพื่อการแสดงประเภทต่าง ๆ