วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นาฏยทฤษฎี ๒/๑๐
โพเอติกา ของ อริสโตเติ้ล

          อริสโตเติ้ล(Aristotle) เป็นนักปราชญ์ชาวกรีก(พ.ศ.๑๕๙-๒๒๑) เกิดที่ เมืองสตากิร่า เมื่อ พ.ศ.๑๕๙ เมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็เดินทางมาเมืองเอเธนส์เพื่อเป็นศิษย์ของเพลโตและอยู่ ๒๐ ปีจนเพลโตเสียชีวิตจึงเดินทางไปรับใช้พระราชาแห่งเฮอมิอาส ๓ ปี จากนั้นก็ไปรับใช้พระเจ้าฟิลลิปส์แห่งมาเซโดเนียและเป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราขอยู่ ๘ ปี เมื่อพระเจ้าฟิลลิปส์สิ้นพระชนม์ อริสโตเติ้ลได้ตั้งโรงเรียนชื่อ ไลเซียมที่เอเธนส์ นาน ๑๒ ปี อริสโตเติ้ลสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๒๑ อริสโตเติ้ลเขียนตำราวิชาการเชิงปรัชญาไว้ในหลายสาขา ฟิสิกส์ เมตาฟิสิกส์ บทกวี การละคร ตรรกวิทยา วาทวิทยา ภาษาศาสตร์ การเมือง การปกครอง จริยธรรม ชีววิทยา และสัตววิทยา อริสโตเติ้ลเป็นปราชญ์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อปรัชญาตะวันตกตราบเท่าปัจจุบัน

โพเอติกา(Poetica) เป็นนาฏยทฤษฎีที่อริสโตเติ้ลเขียนขึ้นโดยอาศัยบทละครอันเป็นผลงานของกวีกรีกในสมัยนั้น แต่ผลการวิเคราะห์และสังเคราะห์ของอริสโตเติ้ลนั้นเกิดเป็นทฤษฎีที่นำมาใช้ได้กับการละครโดยทั่วไป โพเอติกาฉบับย่อมีปรากฏอยู่ทั่วไปในยุคกลางและเผยแพร่มาจนกระทั่ง จอจิโอ วาลลา แปลเป็นภาษาละตินและตีพิมพ์ในเวนิสเมื่อ พ.ศ.๒๐๔๑ ต่อมา อาลดิน ได้พิมพ์ฉบับภาษากรีกขึ้นเมือ่ พ.ศ.๒๐๕๑ จากนั้นมา โพเอติกาก็แพร่หลายไปทั่วยุโรปและมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ อีกทั้งนำไปใช้อย่างกว้างขวาง โพเอติกา นับเป็นนาฏยทฤษฎีเก่าที่สุดและเป็นหลักวิชาการละครของโลกตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน 

(European Theories of the Drama. Barrett H. Clark. Cincinnati: Stewart & Kidd Company, 1918.)

โพเอติกา มีสาระพอสรุปได้ดังนี้

. Imitation การเลียนแบบ มนุษย์มีสัญชาติญาณของการลียนแบบ และแสดงออกของการเลียนแบบด้วยการพูด การเขียน การทำท่าทาง เมื่อจะแสดงตนเป็นตัวละครก็ต้องใช้ศิลปะแห่งหารเลียนแบบให้เหมาะสม                                                                                                                    ๑.๑  Medium คือ สื่อในการแสดงผลของการเลียนแบบ ซึ่งมีสื่อหลายประเภท เช่น สื่อภาษา สื่อภาพ สื่อเสียง                                                                                                                     ๑.๒ Objects คือ ตัวต้นแบบที่ผู้แสดงเลือกมาใช้ในการเลียนแบบเพื่อสร้างตัวละครที่ตนจะสวมบทบาท ดังนั้นตัวต้นแบบอาจมีหลายตัวที่ผู้แสดงเลือกแง่มุมของตัวต้นแบบที่ตนเห็นเหมาะมาผสมผสานกันเป็นตัวละคร                                                                                                                    ๑.๓ Manner คือ วิธีนำเสนอการเลียนแบบซึ่งมีหลายวิธี เช่น การเล่าเรื่อง การขับร้อง การแสดงละคร                                                                                                                   

. Poetry คือ กวีนิพนธ์ที่มนุษย์พัฒนาจากการเลียนแบบให้เป็นระบบที่สื่อความหมายได้ชัดเจนงดงามเกิดจินตนาการและอารมณ์คล้อยตาม                                                               ๒.๑ Comedy คือ กวีนิพนธ์ที่มุ่งเลียนแบบเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน โดยใช้ตัวต้นแบบเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย มีกิริยาที่หยาบ มีความคิดที่โง่เขลา เป็นกวีนิพนธ์ที่ใช้การแสดงเป็นละคร มีการลงไม้ลงมือในการแสดงออกแต่ต้องไม่จริงจังเพราะคนดูจะรู้สึกเจ็บปวดไปกับตัวละครผู้โดนกระทำแล้วจะไม่ขบขัน ภาษาไทยเรียกว่า สุขนาฏกรม                                                         ๒.๒  Epic คือ กวีนิพนธ์ที่ใช้การเล่าเรื่องด้วยบทพรรณนาร้อยกรองขนาดยาว ใช้ฉันทลักษณ์ชนิดเดียว ตัวละครเอกเป็นมนุษย์ผู้สูงส่งมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำกัดเวลาในท้องเรื่อง ภาษาไทยเรียกว่า มหากาพย์ ซึ่งมีความหมายต่างไปจาก รูปแบบหนึ่งของกวีนิพนธ์สันสกฤต    ๒.๓ Tragedy คือ กวีนิพนธ์ที่มุ่งเลียนแบบเพื่อให้เกิดความโศกเศร้าสะเทือนใจ เป็นกวีนิพนธ์ใช้การแสดงละครที่จริงจัง ต้องจบการแสดงให้เห็นผลกรรมของตัวละครเอกอย่างสมบูรณ์ ต้อวงทำให้คนดูเกิดความเห็นใจในชะตากรรมของตัวละครและเกิดความหวั่นใจว่าผลกรรมเช่นนั้นแจเกิดกับตนได้ ภาษไทยเรียกว่า โศกนาฏกรรม                                                                                                            
. Elements of Tragedy ปัจจัยของโศกนาฏกรรม

๓.๑  Plot โครงเรื่อง คือ การลำดับความคิดและเหตุการณ์สำคัญในการดำเนินเรื่อง                   
๓.๑.๑ Unity of Plot เอกภาพของโครงเรื่อง          
๓.๑.๒ Law of Probability or Necessity การดำเนินเรื่องต้องมีความเป็นไปได้จริงสมเหตุสมผลไม่บิดเบือน                                                                                                                   
๓.๑.๓ Simple and Complex Plot การดำเนินเรื่องมีสองแบบคือ แบบตรงกับแบบซ่อนเงื่อนหรือการแสดงความยอกย้อนของชะตากรรมของตัวละคร                                                             
๓.๑.๔ Peripeteia เปอริเปอติเอ้ เป็นการพลิกชะตากรรมของของตัวละครไปในทางตรงข้ามอย่างกระทันหัน เช่นการสรรเสริญกลับเป็นผลร้ายแก่ผู้ได้รับการสรรญเสริญ                       
๓.๑.๕ Recognition เป็นสัญญะบางอย่างซึ่งทำให้ชะตากรรมของตัวละครเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม เช่น ปาน แผลเป็น สร้อยที่ได้รับมาแต่เยาว์ ข้อมูลที่ค้นพบใหม่                                              
๓.๑.๖ Complication and Unraveling เป็นการสร้างเรื่องที่ต้องชวนติดตาม มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมีการค่อย ๆ เปิดเผยความลับทีละน้อย                                                                         
๓.๑.๗ Plot Structure ลำดับขั้นของโครงเรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการแสดง แบ่งเป็น ๕ ส่วน คือ เริ่มเรื่องและปูพื้นเรื่อง (Exposition), เกิดความขัดแย้งและดำเนินเรื่องเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ(Rising Action), เหตการณ์ที่ทำให้วิถีชีวิตของตัวละครเริ่มเปลี่ยนไป(Turning Point), เหตุการณ์ที่ดำเนินต่อมาและทำให้ความลับคลี่คลาย(Falling Action), จุดแตกหักระหว่างสองฝ่ายและความลับถูกเปิดเผย(Climax), การสรุปเรื่องให้จบลงอย่างสมบูรณ์(Conclusion)                                                                                                                     
๓.๑.๘ Pity and Fear คือ ความเห็นใจและความหวั่นใจ ซึ่งเหตุการณืที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว มี ๔ ลักษณะ คือ ๑.การกระทำนั้นตัวละครรู้ตัวและจำเป็นต้องทำโดยไม่มีทางเลือก ๒.การกระทำนั้นเกิดจากความไม่รู้และมาพบความจริงในภายหลัง ๓.ต้องลงมือกระทำแต่ทำไม่ได้เพราะรู้ว่าผู้ที่ตนจะลงมือกระทำเป็นใคร ๔.เกือบลงมือกระทำเพราะไม่รู้ แต่พบความจริงก่อนลงมือกระทำ

๓.๒ Character คือ กวีต้องสร้างตัวละครที่มีรูปร่าง นิสัย ความคิด และพฤติกรรมอย่างสมเหตุผล เป็นความจริง ไม่มีปาฏิหาริย์ ตัวละครในโศกนาฏกรรมต้องเป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีอุดมการณ์ มีคงามมุ่งมั่น มีความกล้าหาญ เสมอต้นเสมอปลาย

๓.๓ Thought คือ กวีต้องแสดงความคิดของเรื่องให้สื่อได้ด้วยคำพูดและท่าทางของตัวละครทั้งทางตรงและทางอ้อม

๓.๔ Diction คือ กวีต้องสร้างคำพูดของตัวละครที่แสดงความคิดและอารมณ์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งการพูดตรง ๆ พูดโดยอ้อม พูดแบบเปรียบเปรย

๓.๕ Song คือ การพูดอย่างมีลีลา การขับลำนำ การขับร้อง และการบรรเลงดนตรี มีบทบาทสำคัญในการให้รสชาติแก่การแสดง จึงต้องใช้ฉันทลักษณ์อย่างเหมาะสมกับบุคคล กาละ เทศะ

๓.๖ Spectacle คือ ความตระการตา ได้แก่ฉาก เครื่องต่งกาย อุปกรณ์การแสดง ที่ทำให้การแสดงมีความงดงามตระการตาแลดูสมจริงมากยิ่งขึ้น

. Purgation of Emotion เป็นคุณสมบัติของโศกนาฏกรรมเมื่อจบการแสดงแล้วต้องทำให้คนดูเกิดความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกโล่งใจว่าตนได้ผ่านพ้นวิกฤติที่จำลองให้เห็นบนเวทีนั้นมาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น