วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556


วัฒนธรรมและการสื่อสารร่วมสมัยกับผู้สูงวัย 

โดย  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล  วิรุฬห์รักษ์

คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

การประชุมวิชาการแห่งชาติด้านผู้สูงวัย  ครั้งที่ 2

9-12  กุมภาพันธ์  2553  อาคาร อปร. คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          วัฒนธรรม  การสื่อสาร  กับผู้สูงวัยเป็น 3 องค์ประกอบที่น่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างดี  มีเอกภาพและราบรื่นเพราะผู้สูงวัยมีทักษะการสื่อสารมานานหลายสิบปี  ตลอดชีวิตที่ผ่านมานี้ แต่ละคนก็มีการสะสมประสบการณ์ตามบุพกรรมไว้เป็นบุคลิกลักษณะนิสัย  ซึ่งเรียกได้ว่าวัฒนธรรมประจำตัวกันถ้วนทั่วทุกคน  ดังนั้น  คนในวัยเดียวกันอาจกล่าวได้ว่าต่างมีประสบการณ์ชีวิตใกล้เคียงกัน  ถูกเลี้ยงดูมาแต่เยาว์วัย ได้สัมผัสไม้เรียวเหมือนกัน  เคารพนบนอบเชื่อฟังผู้ใหญ่  แต่งกายสุภาพ  ไม่ใช้วาจาหยาบคาย  กินอยู่พูวายให้ดูเป็นผู้ดี มีความเกรงใจผู้คน  ไม่ลุกลี้ลุกลน     วิชาที่ร่ำเรียนทั้งสูตรคูณ  ภาษา อาขยาน  นิทาน  วรรณคดี  การฝีมือ  ล้วนเรียนมาเล่มเดียวกัน  จะพูดจะจาจะอุปมาอุปมัยอะไรก็เข้าใจตรงกัน  กีฬาการละเล่นและบรรดาของเล่นก็ต้องหาเอง  ทำเอง  ลูกหิน  ลูกข่าง  รถลาก  รถเข็น  ล้วนสำเร็จด้วยฝีมือของตนเอง  ถ้าเป็นอะไรที่ยากขึ้นไปก็มีปู่ย่าตายายทำเป็นต้นแบบให้เช่น ว่าว  การละเล่น  กระโดดเชือก  ตี่จับ  ทอยกอง  ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยในขณะนี้ผ่านมาแล้ว และยิ้มอย่างเป็นสุขเมื่อหวนระลึกถึง  เมื่อเป็นวัยรุ่นร้อนแรงก็พากันออกไปดูหนังกลางแปลง  แย่งนางรำวง  หรือหลงใหลกับเพลงสมยศ  พยง  มุกดา  หรือสุนทราภรณ์  ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 1 ปณ.  แล้วต่อมาก็จดจ่อ รอชะเง้อดูโทรทัศน์ขาวดำ  ที่เพิ่งนำเข้ามาใหม่ ๆ หมาด ๆ ราคาแพงแสนแพงต้องง้อขอเขาดูด้วยความตื่นเต้น

 

 

 

          พวกที่เติบใหญ่ในกรุงเทพนั้นมีประสบการณ์ต่างไปจากเด็กต่างจังหวัด  ทั้งภาษา  กิริยา  อาหาร การแต่งกาย  การใช้พาหนะเดินทาง  ทั้งรถราง  รถเมล์สองแถว  สีขาวนายเลิศ  รถเมล์พีระสีฟ้า  เดินทางไปโรงเรียน  รวยหน่อยก็ไปกินบะหมี่เยาวราช  ไอสครีมไข่แข็งสามยอด  แล้วต่อมาเป็นหนุ่มก็ยกพวกไปออกันอยู่หน้าโรงหนังแกรนด์  คิงส์  ควีนส์  วังบูรพา  แต่งตัว ทำท่ายียวนกวนประสาท คาดชื่อลือชาว่า โก๋หลังวัง

 

          คนยุคนี้เคยเห็นกรุงเทพที่ร่มเย็น  มีประชากรไม่ถึงล้านคน  มีถนนไม่กี่สาย  แต่ละสายมีต้นไม้ครึ้ม คลุมร่มรื่น  ขนาบด้วยคลองสองข้าง  มีรถราไม่ขวักไขว่  ไม่มีแอร์คอนดิชั่น ไม่มีตึกสูง ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์  ห้างเซ็นทรัลหลังแรกที่เจริญกรุงเป็นเพียงห้องแถวไม่กี่คูหา  ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นมีแค่ร้านเดียวตรงสี่พระยา  ก๊อกประปาสาธารณะให้คนอาบกินมีอยู่ทั่วไป

 

          แล้วเขาเหล่านี้ก็เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพ   การขยายถนน  การสร้างน้ำพุมหึมาทุก ๆ สี่แยก  คูคลองต้นไม้หายไปสิ้น  ติดตามมาด้วยสงครามเวียดนาม  13 ปี ที่ทำให้กรุงเทพเป็นแดนสวรรค์ของพวก GI  ผู้คนต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพ  จนเกิดสลัม  เกิดสถานบันเทิง บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ยาว 13 กิโลเมตร  คราคร่ำด้วยกามธุรกิจ  น้ำประปาขาดแคลนมากจนถึงการผจญภัยกับการขุดวางท่อประปาของบริษัทเดอเกรอมองค์ทั้งกรุงเทพ จนเกรุงเทพเป็นอัมพาตทั้งเมือง  แต่ทุกคนก็อดทนเพราะขยาดที่จะต้องตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตี 2 มารองน้ำประปาให้พอใช้ไปแต่ละวัน

 

          เมื่อชีวิตประจำวันมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น  เพราะเทคโนโลยีทันสมัยนั้นมีการพัฒนารูปแบบ     และการใช้สอยไปอย่างรวดเร็ว  ประชากรจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เช่นกัน  ชีวิตประจำวันก็เร่งรีบ  เบียดเสียด  เยียดยัด แออัดร้อนระอุจนแทบไม่มีที่หายใจ  ไม่มีใครหลีกทางให้ใคร  กระทบไหล่  ชนกันก็ไม่มีเวลาหรือสำนึกจะขอโทษ  ไม่เอื้อเฟื้อ  ไม่ลุกให้นั่ง  ไม่หลีกทางให้เดิน  พระเณรไปมาลำบาก บิณฑบาตก็ยากลำเค็ญ  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล  แต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะปรับตัว

 

          สิ่งที่ทำให้คนปูนนี้เกิดมีช่องว่างกับปรากฏการณ์ใหม่ ๆ  คือ การสื่อสารที่ทำให้วัฒนธรรมอันเป็นวิถีชีวิตประจำวันผันแปรไป อย่างยากที่จะติดตามและสร้างความคุ้นเคยได้ทัน  การสื่อสารในช่วงสัก 30 ปีมานี้เปลี่ยนไปมาก  การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดว่ามาจากเทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  ในที่นี้จะมุ่งไปที่สื่ออีเล็กโทรนิกส์สมัยใหม่ 3 ชนิดคือ  คอมพิวเตอร์   โทรทัศน์   และโทรศัพท์ ทั้ง 3 สื่อนี้เป็นตัวการของวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้คนเก่า ๆ ปรับตัวไม่ทันและถอยกลับไปอยู่ในโลกเก่าๆ ของตน

 

          คอมพิวเตอร์  โทรทัศน์ และโทรศัพท์  ทำให้เกิดการสื่อสารที่รวดเร็ว  เรียลไทม์  ดังนั้น การคิด การเขียน  การพูด  การถาม  การตอบ  จึงเกิดขึ้นสั้น ๆ ทันที  ไม่มีเวลาคิดนาน ไม่มีเวลากลั่นกรอง  ยิ่งเป็นการสื่อสารเพื่อความสำเร็จในธุรกิจ  ยิ่งต้องล้ำหน้าอยู่เสมอ  ไม่มีความเกรงใจ  ไม่มีความปราณีให้ใคร  ใครดีใครได้  ความรู้ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อยากรู้อะไรก็เปิดดู  เปิดค้น  เปิดคว้า เปิดถามก็ได้คำตอบ บทบาทครูเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  เมื่อก่อนครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้รู้  เป็นผู้สั่งและสอนให้แก่ศิษย์จำนวนมาก    แต่บัดนี้ผู้เรียนมีครูนับไม่ถ้วนคอยอยู่ในคอมพิวเตอร์ให้ศิษย์เข้า

ไปถาม  นอกจากนี้ความเป็นเพื่อนก็เปลี่ยนไปจากเพื่อนบ้าน  เพื่อนหอ  เพื่อนห้อง  เป็นเพื่อนเน็ต (Internet)ในคอมพิวเตอร์ที่มีความสนใจเหมือนกัน  แช็ตกัน  (Chat ) แชร์ความรู้ความคิดและอารมณ์ร่วมกัน  สารพัดโรคร้าย  หลายปัญหาชีวิต  ทำให้คนในกลุ่มช่วยกันแชร์และชวยกันเผชิญ  การไปเที่ยว  การไปพบสิ่งงดงามในชีวิตก็นำมาเล่าเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่สื่อถึงกัน มีภาพสวย ๆ แบ่งกันดู การสื่อสารเช่นนี้คนรุ่นเก่าไม่สันทัดเอาเสียเลย

         

          การสื่อสารสมัยใหม่นี้มีผลทางลบเกิดขึ้นแก่การสื่อสารในครอบครัว  และการสื่อสารระหว่างวัยเป็นอย่างมาก  คนในบ้านมีโทรทัศน์คนละเครื่อง คอมพิวเตอร์ก็คนละเครื่อง  โทรศัพท์หลากหลายออปชั่น (Option) คนละหลาย ๆ เครื่อง  คนในบ้านเดียวกัน นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน  แต่คุยโทรศัพท์กับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรถ  ไม่คุยกันเอง ไม่แชร์เรื่องราวประจำวันให้แก่กัน คนรุ่นเก่าใช้สมุดออแกนไนเซอร์ จดนัดหมาย  คนรุ่นใหม่ใช้เมม (Mem-Memory)ในเมือถือ  คนรุ่นเก่าอ่านหนังสือเป็นเล่ม  คนรุ่นใหม่อ่านอีบุ๊ค (E-Book)  สถาปนิกรุ่นเก่าใช้กระดาษดินสอ  ไม้เสท  ไม้ที  คนรุ่นใหม่เขียนแบบด้วยคอมและเร็วกว่า 100 เท่า  เวลาคนรุ่นใหม่ไปพรีเซ้นต์ (Present)  งานต่อหน้าลูกค้าก็ใช้คอมพิวเตอร์ที่สามารถเปลี่ยนดีไซน์ 3 มิติได้ในทันที  แต่คนรุ่นเก่าตกยุคตกงาน

 

          ทางเลือกของสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยไร้พรมแดน  ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เห็นความสำคัญของคนรุ่นเก่า ไม่จำเป็นต้องเรียนประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า  เขาหาเองได้  เลือกเสพสิ่งที่เขาชอบตรงกับรสนิยมของเขาโดยเฉพาะได้  เขาต้องคิดเร็ว  พูดเร็ว เขียนเร็วด้วยภาษาสัน ๆ ด้วยศัพท์เทคนิคใหม่ ๆ ที่คนรุ่นเก่าไม่เข้าใจ  การใคร่สร้างเวอจัวล์เรียลลิตี้  Virtual Reality หรือสร้างโลก สร้างเรื่องจากความคิดของตนให้เป็นจริงของคน

รุ่นใหม่  เป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่าวิ่งไปไม่ทัน เพราะคนรุ่นเก่าไม่เข้าใจและไม่นึกว่าอำนาจการสื่อสารสมัยใหม่จะทำให้วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ห่างไกลจากพวกเขาจนตามไม่ทัน  และแม้จะอยากตาม ก็ไม่รู้ว่าจะตามไปอย่างไร

 

          แล้วคนรุ่นเก่าจะทำให้ช่องว่างแห่งวิถีชีวิตที่เกิดจากการสื่อสารสมัยใหม่แคบลงได้หรือไม่ คำตอบคือ น่าจะได้พยายาม

 

          เริ่มด้วยการที่คนรุ่นเก่า  ลองใช้สื่อทันสมัยให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน  เช่น การพิมพ์ดีด  การส่งอีเมล์  การส่ง  SMS  การ Chat เลยไปถึงการใช้ face book twitter  3G และสื่อใหม่อื่น ๆ ที่จะตามาในไม่ช้า  ถามว่ายากไหม  ตอบว่ายาก  แต่ไม่เกินความพยายาม

 

          การที่ผู้สูงอายุเพียงสามารถใช้คอมพิวเตอร์  ส่งอีเมล์ได้  เป็นการเปิดตัวเองสู่โลกใหม่ที่กว้างใหญ่ไพศาล  ได้พบเพื่อนใหม่ ๆ ที่มีรสนิยม  มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ได้เรียนสุขภาวะ  สารทุกข์สุกดิบของกันและกัน  ด้วยภาษาเดียวกัน  ได้เข้าไปแช็ต กับคนรุ่นใหม่ ได้เข้าไปถ่ายทอดความรู้ความคิดทางการบ้าน  การเมือง  การเศรษฐกิจ  และอดีตอันรุ่งเรืองให้คนรุ่นใหม่ได้สำนึก  สำเหนียก เพรียกหา  อีกทั้งได้เรียนรู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นที่ใดในโลก  ความรู้ที่ตัวคิดว่าใช่ และยึดไว้ไม่ถ่ายถอนอาจคลอนแคลนเพราะได้รู้อะไรใหม่ ๆ ที่เพิ่งค้นพบได้ในปัจจุบัน  เกิดความสนุกสนาน  มีชีวิตที่สดชื่น       มีภาษาทันสมัย  มีใจที่เบิกบาน  มีพลังงานที่จะบุกเบิกใปข้างหน้า  ไม่

คอยแต่นับเวลาสิ้นอายุไขด้วยดวงตาดวงใจที่เหม่อลอย  การใช้สื่อสมัยใหม่ ทำให้ผู้สูงวัยมีคุณค่าเพิ่ม Value Added กับชีวิต  ไม่สถิตย์เสถียรกับอดีต  แต่กลับนำอดีตให้มามีชีวิตจิตใจ  เชื่อมต่อกันเป็นโยงใยกับปัจจุบันสู่อนาคต

 

          คนสูงวัยควรภูมิใจว่า คนรุ่นใหม่รวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็มีความเปราะบางเพราะอ่อนวัย  ไม่มั่นคง หนักแน่น ทนฟ้าทนฝนอย่างคนรุ่นเก่า  เพราะเขายังไม่ได้ผ่านด่านวิกฤตของชีวิตที่คนรุ่นเก่าผ่านมา  คนรุ่นเก่าควรสร้างประสิทธิภาพในการสื่อสารร่วมสมัยถ่ายทอดประสบการณ์ จำลองไปให้คนรุ่นใหม่ใช้เป็นอุทาหรณ์ของชีวิตเขา  จะได้ไม่เศร้า  ไม่เหงา  ไม่พลาด  ไม่ขลาดเขลา  เหมือนคนรุ่นเก่าที่ผจญมา  ในทางตรงข้ามคนรุ่นเก่า ก็จะแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมอันเกิดจากประสบการณ์อันยาวนานของตนให้เป็นวิถีชีวิตร่วมสมัย  สื่อโสตกับคนรุ่นใหม่ได้ไม่แปลกแยก  เกิดความภาคภูมิใจว่าตนสามารถเดินผ่าน Time Machine จากอดีตมาสู่ปัจจุบันได้อย่างมีคุณค่า สง่างาม และร่วมสมัย ไม่เชื่อถาม Google

 

                                                   ------------------------------                             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น